คุยกับ น้องพิงค์-พิชฌามลณ์ : แชมป์เยาวชนโลกวัย 16 กับชีวิตที่เติบโตเกินอายุ

Nuttanon Chankwang

คุยกับ น้องพิงค์-พิชฌามลณ์ : แชมป์เยาวชนโลกวัย 16 กับชีวิตที่เติบโตเกินอายุ image

“อยากเป็นแชมป์เยาวชนชิงแชมป์โลกค่ะ” 

นี่คือคำตอบจากปากของ น้องพิงค์-พิชฌามลณ์ โอภาสนิพัทธ์ หลังจากเราถามเธอว่า อะไรคือเป้าหมายของเธอในปี 2023 และนี่คือแชมป์รายการเดียวที่นักแบดสาวอนาคตไกลวัย 16 ปี ตั้งความหวังเอาไว้ 

ในวันนี้ คนไทยได้รู้แล้วว่าเธอทำได้สำเร็จ น้องพิงค์-พิชฌามลณ์ กลายเป็นหญิงไทยคนที่สองที่คว้าแชมป์แบดมินตันหญิงเดี่ยวในรายการเยาวชนชิงแชมป์โลก ต่อจากน้อยเมย์-รัชนก อินทนนท์ ยอดนักแบดมินตันหญิงชาวไทยในปัจจุบัน

ความสำเร็จครั้งสำคัญทำให้ชื่อของ น้องพิงค์-พิชฌามลณ์ โอภาสนิพัทธ์ อยู่บนหน้าสื่อกีฬาไทยหลายต่อหลายวัน แฟนกีฬาชาวไทยชื่นชมกับความสำเร็จของเธอ นี่คือภาพที่เราเห็นได้ในปัจจุบัน

แต่สำหรับผม ผมเห็นน้องพิงค์ในมุมที่ต่างออกไป … ย้อนไปในปี 2019 ก่อนจะมีการระบาดของไวรัส COVID-19 ผมเคยเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ไปที่เชียงใหม่ และนั่งมอเตอร์ไซด์ออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปเป็น 10 กิโลเมตร เพื่อไปที่สนามซ้อมแบดอันห่างไกลแห่งหนึ่ง เพื่อพูดคุยกับน้องพิงค์ในวัย 12 ปี กับช่วงเวลาที่เธอเพิ่งมีชื่อเสียงได้ไม่นานในวงการแบดมินตัน 

ในวันนั้น ภาพจำของเธอคือเด็กสาวขี้อายที่ตอบคำถามจากสื่อยังไม่เป็น หลายคำถามคุณพ่อต้องตอบแทนให้ และเธอไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่า “เด็กสาวนักแบดมินตันที่มีอนาคตไกล” 

4 ปีต่อมา ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์เธออีกครั้ง ด้วยความตื่นเต้นในใจ เพราะ 4 ปีคือช่วงเวลาที่ยาวนาน จากปี 2019 ถึงปี 2023 … การระบาดไวรัส COVID-19 อย่างหนักได้เกิดขึ้น และจบลง ชีวิตผู้คนเปลี่ยนไปมากมายหลังจากวันนั้น

ผมสงสัยอย่างมาก น้องพิงค์-พิชฌามลณ์ โอภาสนิพัทธ์ ที่ผมเคยเจอในปี 2019 จะเปลี่ยนไปเช่นไรในปี 2023 เพราะ 4 ปีที่ผ่านไป ไม่ต่างจากช่วงเวลาที่คนหนึ่งได้เรียบจบมหาวิทยาลัย มันสามารถเป็นเหตุผลที่ทำให้คนเราเติบโต และเปลี่ยนแปลง รวมถึงกำหนดเส้นทางชีวิตในอนาคตของตัวเองไปจนชั่วชีวิต

ในปี 2023 น้องพิงค์สามารถตอบคำถามได้ด้วยตัวคนเดียว ไม่ต้องให้คุณพ่อมาช่วยตอบอีกต่อไป 

หลังจากพูดคุยกับเธอจบ ผมพบว่าแม้น้องพิงค์จะอายุแค่ 16 ปี และเธอยังไม่ได้เรียบจบมหาวิทยาลัยก็จริง แต่เธอผ่านการเรียนรู้ชีวิตผ่านมหาวิทยาลัยที่ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยของนักแบดมินตัน” ที่ทำให้เธอสำเร็จการศึกษาเป็นหญิงสาวที่เติบโตทั้งในและนอกสนาม กับบทบาทของนักแบดมินตันมืออาชีพที่พร้อมจะล่าความสำเร็จทั้งหมดในวงการแบดมินตัน

เบื้องหน้าของ น้องพิงค์-พิชฌามลณ์ โอภาสนิพัทธ์ แชมป์แบดมินตันเยาวชนชิงแชมป์โลก แต่เบื้องหลังของเธอกลับน่าสนใจยิ่งกว่า และผมไม่อยากเก็บเรื่องนี้เอาไว้คนเดียว

ชีวิต และตัวตนที่แท้จริงของ น้องพิงค์-พิชฌามลณ์ โอภาสนิพัทธ์ ติดตามได้ในบทความของเรา The Sporting News

คุยกับ น้องพิงค์-พิชฌามลณ์ : แชมป์เยาวชนโลกวัย 16 กับชีวิตที่เติบโตเกินอายุ

Nuttanon Chankwang

Q: 4 ปีก่อน น้องพิงค์บอกว่า “ตัวเองซ้อมหนักแล้ว” แต่คุณพ่อบอกว่า “ไม่จริง พิ้งค์ซ้อมไม่หนักเลย ยังมีนักกีฬาแบดมินตัน อีกหลายคนซ้อมหนักกว่าพิ้งค์เยอะ” ทุกวันนี้เรื่องราวยังเป็นเหมือน 4 ปีก่อนไหม?

หนูซ้อมหนักมากขึ้นค่ะ มีโปรแกรมการซ้อมที่เปลี่ยนไป เปลี่ยนมาซ้อมช่วงเช้าและช่วงเย็น มีการเพิ่มความแข็งแกร่งทางร่างกาย ฝึกซ้อมเรื่องเวทเทรนนิ่งต่าง ๆ 

สำหรับหนู มันถือว่าซ้อมเยอะขึ้น เยอะขึ้นมากเลย เพราะ 2 ปีหลังแทบไม่ได้ไปโรงเรียนแล้ว เรียกว่าหยุดไปเลย มีแค่ไปตามเก็บงานกับสอบเท่านั้น เพราะหนูยังเรียนไปด้วย เล่นแบดมินตันไปด้วยอยู่ 

แต่ถ้าเทียบกับ 3-4 ปีก่อน คือไปเรียนตามเด็กปกติ ก็ยังอยู่ในโรงเรียน แต่ตอนนี้ไม่ได้เข้าเรียนเลย

ก็คือเลือกเส้นทางแบดมินตันแบบร้อยเปอร์เซนต์ 

Q: อะไรทำให้น้องพิงค์ตัดสินใจเลือกเส้นทางเป็นนักแบดมินตันอาชีพ?

หนูไม่ได้เลือกคนเดียว พ่อ (พิพัฒน์ โอภาสนิพัทธ์) กับโค้ช (เกษมศักดิ์ จตุจินดา) เป็นคนเลือกด้วย ตั้งแต่ตอนเราไปแข่งรายการต่าง ๆ และทำผลงานได้ค่อนข้างดี สามารถปรับตัวสู้กับคนที่เก่งกว่าได้ไว ก็คิดกันว่าเรามาเลือกจริงจังเส้นทางนี้ดีกว่า เพราะพอได้เลือกเป็นนักแบดมินตันจริงจังผลงานก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ

แต่ถ้าเอาความคิดของตัวเองคนเดียว มองว่าชีวิตเราไม่เคยได้ทำอะไรอย่างอื่น นอกจากแบดมินตัน ก็ไม่รู้ว่าถ้าไปทำอย่างอื่น ตัวเองจะทำได้หรือว่าจะทำไม่ได้? เหมือนกับว่าชีวิตเราเดินมาทางนี้แบบร้อยเปอร์เซนต์ ถ้าจะไปเลือกทางอื่นมันคงช้าไปแล้ว ก็ตัดสินใจมาทางแบดมินตันน่าจะดีที่สุด 

Q: ถ้าแบบนั้นแล้ว พูดได้เต็มปากไหมว่า “อาชีพนักแบดมินตันคือความฝันของน้องพิงค์”?  

คือมันก็เป็นเป้าหมายของตัวเองด้วยส่วนหนึ่ง และของคุณพ่อด้วยส่วนหนึ่ง ประมาณว่าอยากทำเพื่อคุณพ่อคุณแม่ 60 เปอร์เซนต์ ตัวเอง 40 เปอร์เซนต์ แต่ส่วนใหญ่คือทำเพื่อครอบครัว 

คือหนูก็ภูมิใจนะ บางทีเราย้อนกลับไปมองว่า เราประสบความสำเร็จในฐานะนักแบดมินตันระดับหนึ่งแล้ว ภูมิใจจังที่เราได้สำเร็จมาขนาดนี้ 

แต่หนูก็คิดว่า อยากเป็นนักแบดมินตันที่ประสบความสำเร็จเพื่อให้ครอบครัวภูมิใจมากกว่า เพราะส่วนตัวก็มีอย่างอื่นที่อยากจะทำนอกจากแบดมินตัน 

Nuttanon Chankwang

Q: ชีวิตแบบไหนที่น้องพิงค์อยากเป็น ถ้าไม่ได้เป็นนักแบดมินตัน?

ก็ชีวิตแบบคนปกติทั่วไป เรียนหนังสือ เข้ามหาวิทยาลัย หางานทำ แบบคนปกติทั่วไปเลยค่ะ 

Q: แสดงว่าเราเหมือนกับรู้สึกว่าตัวเอง มีชีวิตที่หายไปในฐานะคนปกติ กับการมาใช้ชีวิตในฐานะนักแบดมินตันอาชีพ? 

จริง ๆ ก็จะมีเรื่องชีวิตวัยรุ่น เราอยากไปเที่ยวกับเพื่อนบ้าง อยากไปทำนู่นนี่นั่นบ้าง แต่เราไม่สามารถทำได้ แต่ว่าก็พยายามปรับ ตอนนี้ก็พยายามปรับอยู่ ซึ่งเราก็อยู่กับมันได้ดีขึ้น ลองแบ่งเวลาดู บางทีมีเวลาว่างก็ไปอยู่กับเพื่อนบ้าง แต่บางเรื่องก็ต้องยอมรับว่าต้องเสียไป แต่อย่างน้อยพอมันบาลานซ์ครึ่ง ๆ มันก็ไม่ได้แย่มาก ก็โอเคนะค่ะ 

เพราะตอนนี้ หนูมองว่าแบดมันเป็นอาชีพของหนู มันคืออาชีพที่เราใช้ทำงาน หาเงินของเรา 

หนูคิดว่าตอนนี้ชีวิตของหนู เหมือนคนทำงานปกติอะค่ะ เขาก็มีชีวิตที่ต้องทำงาน ก็ต้องเสียเวลาในการทำงานตรงนั้น เราก็ต้องยอมเสียเวลาตรงนั้นเหมือนกัน ก็เหมือนกับว่าเราเข้าสู่วัยทำงานเร็วขึ้น มันไม่ได้ยากอะไร 

Q: อะไรที่ทำให้น้องพิงค์ยอมเสียชีวิตวัยเด็ก เพื่อเข้าสู่ชีวิตการทำงานที่เร็วขึ้น? 

ส่วนหนึ่งได้มาจาก หนูอยู่กับคนที่โตกว่าค่อนข้างเยอะมาตั้งแต่เด็ก อยู่กับคนที่โตกว่ามาตลอด แบบโตกว่าเป็น 6-7 ปี หรือโตกว่า 10 ปีก็มี ก็ได้รับหลายอย่างมาตั้งแต่ก็เด็ก จนรู้สึกว่าตัวเองโตกว่าอายุมาตั้งแต่เด็กแล้วค่ะ 

Q: เคยถามตัวเองไหม ทำไมต้องเป็นผู้ใหญ่เร็วขนาดนี้

เคย เคยบ่อยมาก เคยถามตัวเองอยู่หลายปี (หัวเราะ) จริง ๆ ก็ถามตัวเองจนไม่รู้ว่าต้องตอบตัวเองว่ายังไง แต่เราก็คิดว่า เหมือนคนพบตัวเองเร็ว บางทีมันก็ดีนะค่ะ 

ช่วงหลังก็คิดค่ะ คิดว่าจริง ๆ ชีวิตตัวเองก็ดีนะ เราไม่ต้องไปนั่งเรียนหนังสือให้เหนื่อย เหนื่อยกับอะไรหลาย ๆ อย่างในชีวิต พอมองกลับมาที่ตัวเอง ก็รู้สึกโชคดีกับตัวเอง ที่สามารถทำงานหาเงินได้เร็วกว่าคนอื่น 

คือมันก็มีหลายความรู้สึกในช่วงที่ผ่านมา บางทีก็แบบดีนะ เราได้ทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ได้ทำ แต่บางครั้งก็กลายเป็นทำไมเราไม่ได้ใช้ชีวิตเหมือนคนอื่นบ้าง 

หนูก็มองว่าชีวิตหนูมันมีสีสันดี มีหลายความรู้สึก หลายรสชาติ 

ไม่รู้เหมือนกันว่าในอนาคตจะมองชีวิตตัวเองแบบไหน แต่อย่างน้อยก็มองว่าในตอนนี้ชีวิตตัวเองก็สนุกดี 

Nuttanon Chankwang

Q: ถ้าอย่างงั้น คิดว่าการเรายอมเสียชีวิตในวัยเด็กมาเข้าสู่วัยทำงานตั้งแต่อายุ 16 ปี มันคุ้มค่าไหม? 

คือเราก็ต้องยอมรับว่า มีสิ่งที่ต้องเสียไปจริง ๆ เพราะตัวเองก็เสียชีวิตวัยรุ่นไปตั้งแต่ชั้นมัธยมปลาย และคงจะเสียไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย 

แต่ว่าก็ไม่เป็นไรค่ะ เราเลือกมาแล้วค่ะ เราต้องทำให้เต็มที่ที่สุด หนูคิดแค่ว่า ถ้าเราเลือกมาแล้วเราก็ต้องทำให้เต็มที่ ถ้าสุดท้ายจะไม่ประสบความสำเร็จก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเลือกมาแล้วก็ต้องทำให้เต็มที่ พิชิตเป้าหมายของตัวเองให้ได้ 

ถ้าวันหนึ่งบรรลุเป้าหมายแล้ว ทั้งทำเพื่อตัวเอง ทำเพื่อคุณพ่อคุณแม่ได้สำเร็จในฐานะนักแบดมินตัน หลังจากนั้นค่อยว่ากันว่าอยากทำอะไร 

Q: มีช่วงเวลาที่น้องพิงค์รู้สึกว่าอยากออกจากชีวิตการเป็นนักแบดมินตันบ้างไหม? 

ไม่เคยแบบว่าอยากออกอะไรแบบนั้น แต่มันจะมีฟีลแบบว่า เหนื่อยจัง เหนื่อยอะ คือเหนื่อย มันเหนื่อยมาก อยากไปเที่ยวไปพักผ่อนบ้าง

จริง ๆ มันก็มีนะช่วงพัก แต่มันก็เหนื่อยอะ เหนื่อยจนแบบว่า เราเริ่มอยากไปทำอย่างอื่นบ้าง เพราะถ้าเหนื่อยมาก ๆ เราจะรู้สึกว่าอยากไปทำอย่างอื่น

แต่ว่า คุณพ่อ คุณแม่ กับโค้ช ช่วยประคองตลอด จริง ๆ ก็มีหลายครั้งที่เราอยากออกนอกเส้นทาง แต่พวกเขาก็พยายามช่วยดึงกลับมา อันนี้เป็นส่วนสำคัญ 

ไม่ใช่แค่ตัวเองที่พามาจุดนี้ แต่ทั้งสามคนช่วยประคองให้เราอยู่ในจุดนี้ คือตัวเองก็มีส่วน แต่คนอื่นก็ช่วยค่ะ 

Q: อะไรคือเป้าหมายของน้องพิงค์ในฐานะนักแบดมินตัน

ถ้าในระยะสั้นก็อยากไต่อันดับโลกให้เร็วที่สุด อยากไปอยู่ 25 อันดับแรกให้เร็วที่สุด ส่วนระยะยาวก็อยากไปแข่งชิงแชมป์โลก กับโอลิมปิก เกมส์ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากได้เหรียญ และอยากได้แชมป์จากทั้งสองรายการ

Q: แล้วอะไรคือเป้าหมายของน้องพิงค์ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่นักแบดมินตัน

ก็ถ้าทำทุกอย่างในฐานะนักแบดมินตันจนประสบความสำเร็จหมดแล้ว หนูก็อยากไปใช้ชีวิตแบบคนปกติ ไปใช้ชีวิตที่เราขาดหายไป 

อาจจะเปิดธุรกิจเล็ก ๆ สักอันเพื่อหาอะไรทำ แล้วก็อยากลองไปใช้ชีวิตต่างประเทศ คือไม่ได้อยากไปอยู่ แค่อยากลองไปใช้ชีวิตที่อื่นดู อยากรู้ว่ามันจะเป็นยังไง แต่ยังไงก็กลับบ้านค่ะ 

Pink Pitchamon

Q: ถ้ามองชีวิตนักแบดของน้องพิงค์เป็นการเดินทาง คิดว่าเส้นทางของตัวเองเดินมาขนาดไหนแล้ว

จริง ๆ คิดว่าเลยครึ่งทางมานิดนึงแล้ว เพราะคิดว่าตีกับระดับนักแบดมินตันแถวหน้า ระดับสูง เริ่มได้แล้ว ก็เลยคิดว่าเราเดินเกินครึ่งทางมานิดนึงแล้ว แต่ก็ยังมีทางอีกไกลที่จะต้องไปต่อ

Q : 4 ปีที่แล้วน้องพิงค์บอกว่า “แพ้บ่อย ๆ ก็ไม่เป็นไร ถ้าแพ้ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ ทำให้เราเติบโตมากขึ้น” ตอนนี้ยังคิดแบบนี้อยู่ไหม? 

ใช่ค่ะ ยังคิดแบบนั้นอยู่ คือมันคือเรื่องจริงแบบจริงมาก ๆ เลย

ตอนพูดในตอนนั้นคือยังไม่ได้แพ้เยอะมากเท่าไหร่ เพราะยังตีในรุ่นตัวเอง หรือตีข้ามรุ่นไม่เยอะมาก ส่วนมากเราจะได้แชมป์ หรือเราจะไม่ค่อยแพ้ใคร แพ้น้อยมาก 

แต่พอเราโตขึ้น เราแพ้บ่อยขึ้น แพ้เยอะขึ้น แต่เราก็ได้เรียนรู้จากความพ่ายแพ้ เรากเก็บทุกอย่างที่เราแพ้ ไม่ว่าเราจะแพ้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว หรือแพ้ในตอนนี้ หนูเก็บทุกอย่างไว้ตลอด 

หนูจำได้ตลอดว่าแพ้ทุกแมทช์เพราะอะไร แม้แต่ในการแข่งขันเมื่อ 4 ปีที่แล้ว และมันทำให้เราเป็นนักแบดที่ดีขึ้นกว่าเดิมเยอะ

Q: ถ้าแบบนั้น มีเวลาที่ตัวเองแพ้ แล้วรู้สึกเสียใจบ้างไหม? 

จะมีแค่บางแมทช์ที่เราเสียใจ เพราะเรารู้สึกทำได้ไม่เต็มที่ ถ้าเราตีไม่ดี ตีไม่ได้เลย ก็รู้สึกเสียใจเพราะรู้สึกทำได้ไม่เต็มที่

แต่ส่วนใหญ่ ถ้าทำเต็มที่แล้วแพ้จะไม่เสียใจเลย แค่ฟังข้อผิดพลาดของเราจากโค้ช แล้วเอามาปรับปรุงมากกว่า 

และช่วงที่ผ่านมาหนูแพ้บ่อยมากขึ้น หนูเอาความผิดพลาดก่อนหน้านั้นมาแก้ไขได้ค่อนข้างเยอะ และตอนนี้พัฒนาขึ้นมาค่อนข้างเยอะเลยค่ะ 

Q: ในฐานะนักแบดที่ได้รับการจับตาจากสื่อและแฟนแบดมินตัน ทำให้รู้สึกกดดันบ้างไหม? 

ตัวหนูไม่ค่อยดูสื่อ หนูจะไม่สนใจข่าวของตัวเองเท่าไหร่ เพราะหนูไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว มันก็เลยไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ 

แต่ก็รู้ค่ะ รู้ว่าตัวหนูมีคนจับตามองเรื่องผลการแข่งขัน แต่ว่าตัวเราเองไม่ได้แบบสนใจขนาดนั้น คือสนใจแค่คนใกล้ชิด สนใจที่โค้ช สนใจที่ตัวเราเอง สนใจเรื่องพวกนั้นมากกว่า ก็เลยไม่ได้รู้สึกกดดัน 

Nuttanon Chankwang

Q: ทุกวันนี้ หลายคนให้ความสนใจกับน้องพิงค์เพราะเรื่องหน้าตาด้วย บางทีอาจมาก่อนฝีมือด้วยซ้ำ รู้สึกยังไงกับเรื่องนี้? 

เราบังคับความคิดใครไม่ได้อยู่แล้ว ถึงเราจะอยากให้คนโฟกัสที่เรื่องในสนามมากกว่า และถึงเราจะพูดแบบนี้ คนก็คงสนใจเรื่องหน้าตามากกว่าอยู่ดี

คือหนูไม่ได้คาดหวังอยู่แล้วว่าคนจะสนใจอะไร ถึงแม้ว่าใจจะอยากให้คนโฟกัสที่เรื่องการเล่นแบดมากกว่าอยู่แล้ว แต่ถ้าโฟกัสทั้งสองก็โอเคค่ะ หนูไม่ได้คิดอะไร 

Q: นักแบดมินตันไทยหลายคนต้องเผชิญกับคำด่า คำโจมตีมากมาย เวลาผลงานไม่ดี น้องพิงค์ได้เตรียมใจไหมว่า วันหนึ่งเราอาจจะต้องเจอเรื่องแบบนี้?

หนูว่าเป็นเรื่องปกติ มันก็โดนกันมาหลายยุคหลายสมัย คือหนูก็เข้าไปอ่านคอมเมนต์ มันก็เจอคำติ คำด่าเป็นเรื่องปกติค่ะ มีคนชอบก็ต้องมีคนไม่ชอบ เป็นเรื่องปกติ

เวลาเห็นคนด่า หนูก็จะมองมันเป็นเรื่องตลกมากกว่า คือเขาไม่ได้รู้สิ่งที่นักกีฬาต้องเจอ ต้องผ่านมา ต้องพยายามมาตั้งแต่เริ่มต้น ต้องเตรียมตัวอะไรมาบ้างกว่าจะถึงวันนี้ คือหนูก็คิดว่าแล้วเราจะไปสนใจทำไม เขาไม่ได้รู้อะไรเลย

แต่ส่วนตัว นักกีฬาเป็นเรื่องปกติ มีวันที่ดี และวันที่ไม่ดี … มันไม่มีใครตีดีทุกวัน อยากให้ทุกคนให้กำลังใจคนไทย ช่วยกันให้กำลังใจกันดีกว่า คนเราไม่สามารถเล่นดีสมบูรณ์แบบได้ตลอดอยู่แล้ว

Q: มีอะไรอยากบอกน้อง ๆ รุ่นหลัง ที่อยากเป็นแบบนักแบดมินตันแบบน้องพิงค์ไหม? 

อยากบอกว่า พยายามให้เต็มที่ให้ถึงที่สุด ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ อย่างน้อยเราก็ภูมิใจในสิ่งที่เราได้พยายามแล้ว

ติดตามบทความและข่าวสารกีฬาอื่นๆของเรา The Sporting News 

Facebook : https://www.facebook.com/TheSportingNewsTH
Instagram : https://www.instagram.com/thesportingnews_th
Tiktok : https://www.tiktok.com/@thesportingnewsthailand

Nuttanon Chankwang

Nuttanon Chankwang  Photo

บรรณาธิการบริหาร The Sporting News Thailand