ไขข้อสงสัย : ทำไมคอร์ทบาสเกตบอล NBA กับที่อื่นทั่วโลกไม่เท่ากัน?

The Sporting News

ไขข้อสงสัย : ทำไมคอร์ทบาสเกตบอล NBA กับที่อื่นทั่วโลกไม่เท่ากัน? image

เอ่ยถึง "อเมริกันเกมส์" ที่มีความเป็นสากลมากที่สุด เชื่อว่า บาสเกตบอล คงเป็นกีฬาแรกที่ถูกนึกถึง เพราะนี่คือกีฬาต้นกำเนิดจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีผู้เล่น และผู้ชมอยู่ทั่วทุกมุมโลก

แต่ถึงบาสเกตบอลจะเป็น "โกลบอลเกมส์" ทว่าหลายสิ่งหลายอย่างของกีฬาบาสเกตบอลในแดนมะกัน กับที่อื่นๆ ของโลกก็ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ไม่เว้นแม้เรื่องธรรมดาสามัญอย่าง สนามแข่งขัน

คอร์ทบาสเกตบอล NBA กับที่อื่นทั่วโลกแตกต่างกันอย่างไร และทำไมถึงไม่เท่ากัน? ที่นี่มีคำตอบ

ต่างกันอย่างไร

หากจะถามว่าคอร์ทบาสเกตบอลระหว่าง NBA กับที่อื่นๆ ในโลกซึ่งใช้ในการแข่งขันนั้นต่างกันตรงไหน คำนิยามที่ง่ายและใกล้เคียงที่สุดคือ "นอกจากทำด้วยไม้ขัดเงาแล้ว ขนาดต่างกันแทบทั้งหมด"

เรามาเทียบขนาดคอร์ทบาสเกตบอลกัน โดยเทียบระหว่างตามกติกา NBA และ สหพันธ์บาสเกตบอลนานาชาติ หรือ FIBA 

ความยาว  

NBA 94 ฟุต / 28.65 เมตร

FIBA 91.86 ฟุต / 28 เมตร

ความกว้าง

NBA 50 ฟุต / 15.24 เมตร

FIBA 49.21 ฟุต / 15 เมตร

เส้นโค้งเขตห้ามปะทะ

NBA 4 ฟุต / 1.22 เมตร

FIBA 4.10 ฟุต / 1.25 เมตร

เส้นผ่านศูนย์กลางวงกลมกลางสนาม

NBA 12 ฟุต / 3.66 เมตร

FIBA 11.81 ฟุต / 3.6 เมตร

ระยะเส้น 3 คะแนน จากห่วง

NBA 23.75 ฟุต / 7.24 เมตร

FIBA 22.15 ฟุต / 6.75 เมตร

ระยะเส้น 3 คะแนน บริเวณมุมสนาม

NBA 22 ฟุต / 6.70 เมตร

FIBA 21.65 ฟุต / 6.60 เมตร

ความกว้างเขตหวงห้าม (บริเวณที่ทาสี)

NBA 16 ฟุต / 4.88 เมตร

FIBA 16.08 ฟุต / 4.9 เมตร

ระยะเส้นชู้ตลูกโทษ

NBA 15 ฟุต / 4.57 เมตร

FIBA 15.09 ฟุต / 4.6 เมตร

นอกจากนี้ ระยะอื่น ๆ อย่าง เขตเทคนิค ที่โค้ชสามารถออกมาสั่งการลูกทีมได้ ก็ไม่เท่ากันอีกด้วย สิ่งเดียวที่เหมือนกัน คือความสูงของห่วงบาสเกตบอล ที่ 10 ฟุต หรือ 3.05 เมตร เท่านั้นเอง

ต่างกันเพราะเหตุใด

จากที่กล่าวไปข้างต้น คงเป็นเครื่องยืนยันได้แล้วว่า คอร์ทบาสเกตบอลใน NBA กับที่อื่นทั่วโลก ไม่เท่ากันจริงๆ แต่หากจะถามว่า ทำไมคอร์ทบาสเกตบอลใน NBA กับที่อื่นทั่วโลกถึงไม่เท่ากัน? บางทีคำตอบนั้นอาจง่ายกว่าที่คิด

เพราะหากคุณสังเกตตัวเลขต่างๆ ที่ปรากฏ จะเห็นได้ว่า อันที่จริงตัวเลขนั้นใกล้เคียงกันมากๆ ซึ่งหากจะหาเหตุผลว่าเหตุใดถึงไม่เท่ากัน คำตอบนั้นคือ "หน่วยการวัด" นั่นเอง

แม้สหรัฐอเมริกาที่ประกาศอิสรภาพจากสหราชอาณาจักรเมื่อปี 1776 จะเลือกเส้นทางเดินที่แตกต่างจากอดีตประเทศแม่ สิ่งใดที่สหราชอาณาจักรทำ สหรัฐอเมริกาจะไม่ทำ แต่กลับมีสิ่งหนึ่งที่ลุงแซมเลือกที่จะเหมือนกับผู้ดี สิ่งนั้นคือหน่วยวัดที่ใช้แบบ "อิมพีเรียล" (imperial) 

การใช้หน่วยวัดแบบอิมพีเรียล คือสิ่งหนึ่งที่สหรัฐอเมริกาเลือกที่จะไม่ทำตามสากลโลก ที่ใช้หน่วยวัดแบบ "เมตริก" (metric) ซึ่งเป็นหน่วยสากล ตามแนวคิดที่ว่าพวกเขาเป็นหนึ่งไม่เป็นสองรองใคร และเนื่องจากสหรัฐอเมริกาคือชาติที่คิดค้นกีฬาชนิดนี้ โดย เจมส์ เนย์สมิธ เมื่อปี 1881 แน่นอนว่าการวัดขนาดสนามโดยใช้หน่วยฟุต คือสิ่งที่พวกเขาทำมาตั้งแต่แรก ก่อนที่ FIBA จะเกิดขึ้นเมื่อปี 1932 หลายสิบปี

และแม้ NBA (National Basketball Association) ลีกบาสเกตบอลอาชีพของสหรัฐอเมริกา จะถือกำเนิดในชื่อ BAA (Basketball Association of America) เมื่อปี 1946 ก่อนเปลี่ยนเป็น NBA ในปี 1949 หลังควบรวมกับ NBL (National Basketball League) แต่ทาง NBA ก็ยังคงยึดถือสิ่งต่างๆ ตามที่พวกเขาเคยทำมาตั้งแต่อดีต ซึ่งรวมถึงขนาดของคอร์ทบาสเกตบอลด้วย กลับเป็น FIBA ที่ต้องอิงขนาดคอร์ทบาสเกตบอลให้ใกล้เคียงกับ NBA แทน

ปรับตัวอย่างไร

แม้ขนาดคอร์ทบาสเกตบอลของ NBA และที่อื่นๆ ของโลกจะมีความใกล้เคียงกัน แต่ก็เหมือนกับทุกกีฬา ที่เวลาผ่านไปก็ต้องมีการปรับกฎกติกาเพื่อเพิ่มความสูสีในการแข่งขัน และกับสนามแข่ง สิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคงหนีไม่พ้น "เส้น 3 คะแนน"

NBA มีการนำเส้น 3 คะแนนเข้ามาใช้ครั้งแรกเมื่อปี 1979 ก่อนที่ FIBA จะนำมาใช้ด้วยในปี 1985 และมีการปรับเปลี่ยนระยะหลังจากนั้น โดยใน NBA เคยปรับระยะเส้น 3 คะแนนจากห่วงให้สั้นลงจาก 23.75 ฟุต (7.24 เมตร) เหลือ 22 ฟุต (6.7 เมตร) ระหว่างปี 1994-1997 เพื่อให้มีการชู้ต 3 คะแนนมากขึ้น ก่อนปรับกลับไปที่ระยะเดิมจนถึงปัจจุบัน ส่วน FIBA เคยมีการปรับระยะเส้น 3 แต้มจาก 6.75 เมตร (22.15 ฟุต) เป็น 6.25 เมตร (20.51 ฟุต) ก่อนปรับกลับไปที่ 6.75 เมตรเหมือนเดิมอีกครั้ง

นอกจากสนามที่มีขนาดต่างกันแล้ว ลูกบอล ตลอดจนกติกาในการแข่งขันที่ออกโดย NBA กับ FIBA ก็มีความแตกต่างกัน ซึ่งทำให้รูปเกมแตกต่างกันไปด้วย

เราจะยกตัวอย่าง NBA เปรียบเทียบกับ บาสเกตบอลทีมชาติ ซึ่งใช้กฎของ FIBA ... รูปเกมใน NBA ยุคปัจจุบัน หลายคนคงพอนึกภาพออกว่าเป็นเกมแบบ Small Ball เน้นการชู้ตจากวงนอก โดยเฉพาะ 3 คะแนน ส่วนวงในไม่เน้นมากนัก

หลายคนอาจคิดว่า ในเมื่อผู้เล่น NBA ยุคปัจจุบันยิง 3 แต้มแม่นหลายคน การไปเล่นเกมทีมชาติน่าจะเป็นของกล้วยๆ เพราะเส้น 3 คะแนนของ FIBA สั้นกว่าใน NBA แต่ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะนอกจากชาติคู่แข่งจะศึกษาการเล่นใน NBA อยู่แล้ว ลูกบอลรวมถึงกติกาการแข่งขันในเกมทีมชาติ ก็ต่างจากใน NBA ด้วยเช่นกัน ทำให้เกมทีมชาติก็มีจังหวะบีบคั้นไม่แพ้ NBA แม้จะมีความต่างกันในรายละเอียด และความกดดัน มีผลต่อความแม่นเสมอ

สิ่งดังกล่าวสะท้อนด้วยเปอร์เซนต์ความแม่นของเหล่าสตาร์ NBA ในการชู้ต 3 แต้มเกมทีมชาติ ที่มักจะน้อยกว่าเวลาลงเล่นให้ต้นสังกัดอย่างเห็นได้ชัด ... เคลย์ ธอมป์สัน ชู้ต 3 แต้มลงเพียง 32% ในโอลิมปิก ริโอ 2016 ขณะที่ เจสัน เททัม ชู้ต 3 แต้มในบาสเกตบอลชิงแชมป์โลก 2019 ลงเพียง 25% เท่านั้น

หากเป็นวันที่องค์ลงก็ดีไป แต่หากองค์หลุดเมื่อไหร่ สหรัฐอเมริกาที่ระยะหลังมักเน้นการชู้ต 3 แต้ม ก็มักไปไม่เป็นในเกมทีมชาติ เพราะพวกเขาจำเป็นต้องเข้าวงในเพื่อทำแต้ม แต่ก็มักเกิดปัญหาในการปะทะสู้กับเหล่าผู้เล่นจากยุโรปอยู่บ่อยครั้ง ทั้งสรีระ รวมถึงกติกา ที่ FIBA ไม่มีกฎห้ามอยู่ในพื้นที่วงในที่ทาสีเกิน 3 นาที แถมผู้เล่นจากยุโรป ก็มีการชู้ตจากระยะกลางและระยะไกลที่แม่นกว่าในอดีตเสียด้วย

ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้เอง ทำให้ เจสัน เททัม ยอมรับว่า เกมทีมชาตินั้นไม่ง่ายอย่างที่หลายคนคิด

"มันแตกต่างกันมากนะ ในเกมทีมชาติผู้เล่นขอเวลานอกเองไม่ได้ สามารถตีบอลออกจากขอบห่วงได้ ลูกบอลก็ไม่เหมือนกัน นั่งเล่นในพื้นที่ทาสีได้ทั้งวัน แถมยังครองบอลได้น้อยลง เพราะเวลาการแข่งขันน้อยลงด้วยเช่นกัน"

"เกมทีมชาติเดือดไม่แพ้ใน NBA เลย และมีหลายสิ่งในเกมที่คุณต้องเตือนตัวเองตลอดเวลา ต้องช่วยเหลือกัน ต้องพูดกระตุ้นกัน"

เททัมอาจจะเป็นสมาชิกของทีมชาติสหรัฐอเมริกาชุดคว้าเหรียญทองโอลิมปิก โตเกียว 2020 ก็จริง แต่สิ่งที่เจ้าตัวพูดนั้นกลั่นมาจากประสบการณ์ตรง เพราะฟอร์มหลุดของเขาและเพื่อนร่วมทีมชาติ ทำให้สหรัฐอเมริกาเข้าป้ายเพียงอันดับ 7 ในบาสเกตบอลชิงแชมป์โลก 2019

หากคุณคิดว่าบาสเกตบอลทีมชาติเล่นง่ายกว่าใน NBA นั้น คุณคิดผิด เพราะสตาร์ใน NBA อย่างเททัม เล่นจริงเจ็บจริงมาแล้ว

The Sporting News

The Sporting News Photo

Beyond the score: The sports world explained. The Sporting News has been a trusted sports media publisher since 1886, delivering the news, insights and entertainment that fans around the world need to know.