หลายครั้งที่คุณติดตามข่าวสารวงการบาสเกตบอลเอ็นบีเอสิ่งหนึ่งที่คุณจะเห็นได้บ่อยคือเรื่องของการเทรด และทรัพย์สินในมืออย่างหนึ่งที่ทีมประเภทต้องการสร้างทีมวินนาว (Win-Now) หรือ ประสบความสำเร็จทันที เช่นฤดูกาลล่าสุด คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส ลงมือส่งสิทธิดราฟท์รอบแรก 3 ปี พ่วงด้วย คอลลิน เซ็กส์ตัน, เลารี่ มาร์คคาเน่น และ โอแชร์ อักบายี่ พร้อมสิทธิสลับดราฟต์ เทรดแลกกับ โดโนแวน มิตเชลล์ ยอดการ์ดจาก ยูท่าห์ แจ๊ซ มาเพื่อยกระดับให้พวกเขากลายเป็นทีมลุ้นแชมป์เต็มตัว
อย่างไรก็ตามหากย้อนกลับไปราว 40 ปีที่แล้ว ทีมๆนี้เคยเดินหมากผิดพลาดจนสร้างความเสียหายที่กลายเป็นเรื่องตลกขบขันของวงการ และกลายเป็นที่มาของกฎ สเตเปี้ยน รูลส์ ที่ยึดถือและใช้กันจนถึงทุกวันนี้
เกิดอะไรขึ้นกับ คาวาเลียร์ส ในตอนนั้น ติดตามได้ที่นี่
ยุคมืดของ คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1980 คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส พึ่งจะมีอายุครบ 10 ในลีกพอดิบพอดี พวกเขายังไม่ใช่ทีมที่เก่งกาจมากนัก แม้ว่าพวกเขาจะมีปีที่ผ่านมารอบเพลย์ออฟได้ 3 ครั้งติดต่อกัน 1976-1978 แต่โดยรวมก็ยังไม่ใช่ทีมที่ศักยภาพมากพอสำหรับการลุ้นแชมป์ในเวลานั้น
กระทั่งความพังพินาศก็ได้บังเกิด หลังจากที่นักธุรกิจชื่อดัง เท็ด สเตเปี้ยน เข้ามาซื้อหุ้นของทีมจนถืออำนาจเบ็ดเสร็จในการเป็นเจ้าของ การดำเนินงานของเขาเต็มไปด้วยข้อครหา ความสับสน ไม่มีทิศทาง
ทั้งการเปลี่ยนโค้ชมากถึง 5 คน ในช่วงเวลาที่บริหารทีมราวๆ 3 ฤดูกาลเศษ มีผลงานห่วยแตกสุดๆในปี 1981-1982 ที่ทั้งซีซั่นชนะได้แค่ 15 เกม การให้สัมภาษณ์เชิงเหยียดคนผิวสี รวมถึงเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของการสั่งปลด โจอี้ เทต โฆษกกีฬาขวัญใจชาวคลีฟแลนด์ออกจากทีมอีกต่างหาก
ความตกต่ำของ คาวาเลียร์ส ในช่วงนั้นทำให้แฟนๆเรียกพวกเขาว่า “Cleveland Cadavers ” หรือ ซากศพแห่งคลีฟแลนด์ ซึ่งช่วงเวลาสั้นๆแค่ 3 ปี สเตเปี้ยน ทำลายทีมได้อย่างหมดจนเพียงเพราะความมั่นใจในตัวเองจนเกินไป และ ไม่ฟังใครนอกจากตัวเอง
คาวาเลียร์ส มีสถิติ ชนะ 66 แพ้ 180 เกม ไม่ได้เข้าเพลย์ออฟแม้แต่ซีซั่นเดียว นับตั้งแต่ 1980-1984 ผลประกอบการของทีมก็ติดลบในช่วงเวลานั้นราว 15 ล้านเหรียญ (ประมาณ 563 ล้านบาท) แต่ถ้าหากคิดเป็นค่าเงินในปัจจุบันคือการขาดทุน 48.9 ล้านเหรียญ เทียบจาก 1 เหรียญปี 1981 มีค่าเท่ากับ 3.26 เหรียญตอนนี้ (หรือประมาณ 1.83 พันล้านบาท)
อย่างไรก็ตามความพังพินาศใดๆ ไม่เท่ากับการที่เขาคิดถึงแต่โอกาสจะเข้าเพลย์ออฟ จนบ้าเลือกทุ่มเอาสิทธิดราฟท์รอบแรก 5 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 1982 - 1985 ที่มีอยู่ในมือไปแลกตัวผู้เล่นที่สุดท้ายไม่สามารถเสริมศักพภาพทีมได้มากนัก และกลายเป็นขายอนาคตของทีมไปโดยไม่รู้ตัว
พลาดโอกาสได้ตัว เจมส์ เวิร์ธตี้ และ ไมเคิล จอร์แดน ฯลฯ
เมื่อไม่มีสิทธิดราฟท์เหลือในมือ คาวาเลียร์ส ก็กลายเป็นทีมที่ต้องเดินหน้าต่อด้วยความมืดมน พวกเขาไม่มีหวังหรือโอกาสที่จะได้ตัวรุกกี้เก่งๆ ซึ่งอาจจะสามารถเข้ามายกระดับทีมได้ดีกว่าดีลต่างๆ ที่ สเตเปี้ยน สรรหามาก่อนหน้านั้น ตลอด 4 ปี ถ้าหาก แคฟส์ ไม่เทสิทธิดราฟท์หมดหน้าตัก พวกเขาจะได้ใครบ้าง ?
ปี 1982 คาวาเลียร์ส มีผลงานที่ห่วยสุดของลีก แต่พวกเขาส่งสิทธินั้นให้แก่ ลอสแองเจลลิส เลเกอร์ส
และสิ่งที่ยอดแชมป์ 17 สมัย ได้ไป ณ เวลานั้นคือ เจมส์ เวิร์ธตี้ ฟอร์เวิร์ดที่กลายเป็นผู้เล่นระดับฮอลออฟเฟลม รวมทั้งพาทีมเลเกอร์ส คว้าแชมป์ 3 สมัย และสิ่งที่ แคฟส์ ได้กลับมาในการเทรดก่อนหน้านั้นคือ ผู้เล่น 2 คนอย่าง ดอน ฟอร์ด และ เชด คินช์ ที่ตลอดอาชีพมัดรวมกันทำเฉลี่ยไม่ถึง 10 คะแนนต่อเกม
ปี 1983 พวกเขาควรได้สิทธิดราฟท์อันดับ 3 แต่กลายเป็น ฮุสตัน ร็อคเก็ตส์ ที่เอาไปเลือก ร็อดนี่ย์ แมคเครย์ โดยในกระดานเลือกผู้เล่นปีนั้นมีคนดังๆทั้ง ไบรอน สก็อตต์ ในอันดับที่ 4, เจฟฟ์ มาโลน อันดับที่ 10, เดเรค ฮาร์เปอร์ อันดับที่ 11 และ ไคลด์ เดร็กซ์เลอร์ ในอันดับที่ 14
ปี 1984 เป็นอีกครั้งที่แคฟส์ ได้สิทธิอันดับที่ 3 แล้วคุณลองทายสิว่าตำแหน่งการเลือกผู้เล่นตรงนั้นคือใคร คำตอบคือ ไมเคิล จอร์แดน ที่เลือกโดยชิคาโก้ บูลส์ ซึ่งตรงนี้คงไม่ต้องอธิบายว่าเป็นความผิดพลาดอันใหญ่หลวงขนาดไหน
ปี 1985 พวกเขาได้สิทธิในอันดับที่ 8 กลายเป็น ดัลลัส แมฟเวอริกส์ ที่ได้ เดทเลฟ ชแลมฟ์ ฟอร์เวิร์ดชาวเยอรมัน ซึ่งตลอดอาชีพทำเฉลี่ย 13.9 แต้ม กับ 6.2 รีบาวด์ และ ในลำดับที่ 9 พวกเขาเลือก ชาร์ลส์ โอ๊คเล่ย์ ซึ่งสิทธิตกเป็นของบูลส์ในเวลาต่อมา ซึ่งน่าเสียมากเพราะในปีนี้มีผู้เล่นอย่าง คาร์ล มาโลน ที่ถูกเลือกไปในอันดับ 13 และ โจ ดูมาร์ส ถูกเรียกเข้าทีมพิสตันส์ในอันดับที่ 18
ปี 1986 สิทธิอันดับ 7 ของพวกเขาถูกส่งไปให้กับแมฟเวอริกส์ ซึ่งท้ายที่สุดแมฟส์เลือก รอย ทาร์ปเลย์ แต่ถ้าหย่อนมาอีกอันดับ คือชื่อของ รอน ฮาร์เปอร์ รวมถึงยังมี เดลล์ เคอร์รี่ อยู่ในอันดับที่ 15 อีกด้วย
แม้ว่า สเตเปี้ยน จะอำลาทีมไปตั้งแต่ปี 1983 แต่ความเสียหายที่เขาได้ทิ้งไว้ ทำลายทีมคาวาเลียร์สมายาวนานถึงปี 1986 และเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ลีกทบทวนจนกระทั่งประกาศกฎสเตเปี้ยน รูลส์ ขึ้นมา เพื่อป้องกันพฤติกรรมแบบนี้เกิดขึ้นอีก
บทเรียนที่กลายเป็นกฎของลีก
แม้ความพังของ คาวาเลียร์ส จะไม่ถึงกับทำให้ทีมล่มสลาย เพราะพวกเขาสามารถฟื้นตัวมาได้อย่างรวดเร็ว ปี 1984-1985 พวกเขากลับเข้าเพลย์ออฟอีกครั้ง และ จากนั้นในยุคการทำทีมของ เลนนี่ วิลเค่นส์ พวกเขาก็กลายเป็นทีมระดับเพลย์ออฟ หรือ เกือบๆลุ้นแชมป์ได้หลายฤดูกาลติดต่อกัน
อย่างไรก็ตามลีกไม่รอช้า พวกเขาตั้งกฎสเตเปี้ยน รูลส์ ขึ้นมาทันทีที่จบฤดูกาล 1981-1982 หรือแทบจะทันที่เห็นว่าผู้บริหารคนดังกล่าวจัดการส่งสิทธิดราฟท์รอบแรกในมือ 5 สิทธิออกจากทีมด้วยระยะเวลาไม่ถึง 5 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้ความบ้าบิ่นนี้เกิดขึ้นอีกไม่ว่าจะกับทีมใดก็ตาม
ต้องมีดราฟท์รอบแรกติดมือปีเว้นปี
ส่วนกฎสเตเปี้ยน รูลส์ ถ้าเอากันแบบเข้าใจง่ายๆคือ ทุกทีมห้ามทำการเทรดสิทธิดราฟท์รอบแรกติดต่อกัน 2 ปีขึ้นไป หรือถ้ามองอีกมุมหมายถึงทุกทีมจะต้องมีสิทธิดราฟท์รอบแรกอยู่ในมือแบบปีเว้นปีเป็นอย่างน้อย ตัวอย่างเช่น ถ้าทีม A มีสิทธิดราฟท์รอบแรกนับตั้งแต่ปี 2023-2027 ทั้งหมด 5 ครั้ง แล้วอยากบ้าเลือกทุ่มเทรดหมดหน้าตัก พวกเขาจะสามารถใช้สิทธิดราฟท์ปี 2023, 2025 และ 2027 เท่านั้นสำหรับการเทรดแลกผู้เล่น (กรณีที่ปี 2022 พวกเขามีสิทธิดราฟท์และใช้ไปตามปกติ)
แต่ถ้าหากในปี 2022 ที่ผ่านมาพวกเขาก็ไม่ได้ดราฟท์ผู้เล่น พวกเขาจะเทรดสิทธิดราฟท์เริ่มต้นได้ที่ของปี 2024 เพราะถ้าหากเลือกเทรดสิทธิปี 2023 จะเท่ากับว่าพวกเขาไม่มีสิทธิดราฟท์ 2 ปีซ้อนตั้งแต่ปี 2022 และ 2023 ซึ่งเป็นการละเมิดกฎของลีกนั่นเอง
ข้อดีของการมีกฎนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริการเกิดการบ้าเลือด หรือ เอาอนาคตของทีมมาแลกกับความสำเร็จระยะสั้นมากเกินไป เพราะเจ้าของทีมบางคนเข้ามาทำทีมแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็ตัดสินใจขายทีมทิ้ง และกลายเป็นการทิ้งภาระไว้กับพนักงาน คนในองค์กร ผู้เล่นและแฟนๆ ทีมเหล่านั้น