นอกจาก ยูตะ วาตานาเบะ และ รุย ฮาชิมูระ 2 นักบาสชาวญี่ปุ่นที่โลดแล่นอยู่ในศึกบาสเกตบอล NBA แล้วนั้น ยังมีนักยัดห่วงอีกรายที่ได้โอกาสแสดงฝีมือในลีกบาสสูงสุดของสหรัฐฯ เธอคือ รุย มาชิดะ นักบาสหญิงทีมชาติญี่ปุ่นเจ้าของส่วนสูงเพียงแค่ 162 เซนติเมตร ที่เคยสัมผัสโอกาสลงเล่นกับทีม วอชิงตัน มีสทิคส์ ในศึกบาสเกตบอลหญิง WNBA
รุย มาชิดะ นักบาสร่างเล็กที่สร้างชื่อกระหื่มโลกมาแล้ว
เด็กสาวจากเมืองฮาซาฮิกาวะ ในจังหวัดฮอกไกโด เริ่มเล่นบาสเกตบอลมาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จากการฉายแววความเก่งมาตั้งแต่เด็ก บวกกับการได้เลือดของคุณพ่อ ชิเกโนริ มาชิดะ ซึ่งเป็นโค้ชบาสเกตบอลไหลเวียนอยู่ในตัว ทำให้มันสมองและความเข้าใจเกมเป็นจุดเด่นที่เข้ามากลบรูปร่างที่เล็กจิ๋วของเธอ กระทั่งก้าวขึ้นมาเป็นพ้อยท์การ์ดชั้นแนวหน้าของประเทศ
สมัยมัธยม 6 เธอรับบทบาทกัปตันทีมและพาโรงเรียน ยามะโนเตะ คว้าทริปเปิลแชมป์มาแล้ว และทันทีที่เธอจบการศึกษา สโมสรในลีกบาสหญิงญี่ปุ่นอย่าง ฟูจิสึ เรด เวฟ ก็ทำการดึงตัวมาเล่นอาชีพทันที และ ก็เริ่มสร้างชื่อด้วยการคว้ารางวัลรุกกี้แห่งปี 2011-12 พร้อมด้วยผลงานโดดเด่นและรางวัลอีกมากมายในเวลาต่อ ๆ มา
บทบาทในทีมชาติไม่ธรรมดา เธอติดทีมชาติชุดใหญ่หนแรกในปี 2014 ช่วยทีมคว้าอันดับ 3 เอเชียนเกมส์ 2014 รวมถึง 3 แชมป์ในรายการชิงแชมป์เอเชียปี 2015,2017 และ 2019 แต่ไม่มีหนไหนที่เธอสร้างชื่อให้กับตัวเองและประเทศชาติได้โดดเด่นเท่าโตเกียว เกมส์ 2020
มาชิดะ โชว์ผลงานโดดเด่น ทำแอสซิสต์ระดับ 2 หลักทุกเกม โดยเฉพาะการสร้างสถิติ 18 แอสซิสต์ ในเกมรอบรองชนะเลิศกับฝรั่งเศส ทำให้เธอของชื่อถูกพูดถึงในวงการกีฬายัดห่วงเป็นอย่างมาก
กระทั่งนัดชิงชนะเลิศที่ ยัดห่วงสาวญี่ปุ่น แพ้ สหรัฐ 75-90 คือเกมเดียวเท่านั้น ที่เธอทำได้เพียง 6 ครั้ง แต่เหรียญเงิน และ ผลงานโดยรวมที่เธอฝากไว้ในทัวร์นาเมนต์กีฬาระดับโลกนี้ ก็เพียงพอกับโอกาสที่เธอจะก้าวไปอีกขั้นในฐานะผู้เล่นบาส WNBA ของประเทศสหรัฐฯ
ความจืดจางในเวทีใหม่
วอชิงตัน มีสทิคส์ คือ 1 ทีมที่ประทับใจกับฟอร์มการเล่นของ มาชิดะ และยื่นสัญญา 1 ฤดูกาลให้กับเธอทันที อาจจะฟังดูแปลกไปหน่อย แต่ มาชิดะ ในวัย 29 ปี คือรุกกี้ของวงการบาสเกตบอลหญิงสหรัฐฯ
และเธอเป็นนักบาสหญิงรายที่ 4 เท่านั้นในประวัติศาสตร์ ที่ได้โอกาสร่วมชิงชัยในศึก WNBA
มาชิดะ มีทักษะที่โดดเด่นคือการจ่ายบอล อย่างไรก็ตามความไม่แน่นอนในการทำคะแนน หรือ สร้างประสิทธิภาพในเกมบุกด้านอื่น ๆ ให้กับทีม ส่งผลให้เธอได้รับโอกาสลงเล่นน้อยมาก จนท้ายที่สุดเวลาผ่านไป 5 เดือน เธอไม่ได้รับการต่อสัญญาและกลายเป็นผู้เล่นฟรีเอเย่นต์
ตลอดทั้งซีซั่น เธอทำเฉลี่ย 1.8 แต้ม, 1.1 รีบาวด์ และ 2.6 แอสซิสต์ จากเวลาลงเล่น 12.9 นาที แต่อย่างที่บอกไป ความแม่นคือปัญหาเธอยิงลงแค่ 31% และ ระยะสามคะแนนแม่นเพียง 20.6%
ดูเหมือน มาชิดะ ที่เราได้เห็นในการถ่ายทอดสดของศึกโตเกียวเกมส์ 2020 จะหายไป
เฮดโค้ชอย่าง ไมค์ ธิบัลท์ ก็เห็นถึงปัญหานั้น แต่ก็ไม่อยากให้อดีตลูกทีมตัดใจจากความฝันในแผ่นดินอเมริกา “เพื่อความสำเร็จในระยะยาวของเธอกับลีก WNBA เธอต้องเพิ่มความคุกคามต่อเกมรับมากกว่านี้ เธอคือผู้เล่นที่ซ้อมหนัก แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้งที่คนเราจะเอาชนะความท้าทายได้ง่าย ๆ เธอต้องเพิ่มการทำคะแนน ต้องชู้ตได้ แล้วเธอจะได้รับเวลาลงเล่นมากขึ้นในฐานะผู้เล่นตำแหน่งการ์ด”
“ผมคิดว่าเราจะเก็บเธอไว้เป็นการ์ดสำรองของทีม เรายังมีสิทธิ์เจรจากับเธอ เพราะเธออยู่ในลีกมาไม่ถึง 3 ปี ดังนั้นเราไม่สามารถเจรจากับทีมอื่น ๆ ได้”
มาชิดะ ก็รับสภาพว่าเธอมีสิ่งที่ต้องพัฒนาเพิ่มขึ้นอีกมาก แต่ขณะเดียวกัน 5 เดือนในวอชิงตัน ก็ได้ทำให้เธอเติบโตขึ้นอย่างมากเช่นกัน
เรียนรู้จากกำแพง
“ฉันได้เรียนรู้หลายสิ่งมาก ๆ จากที่นี่ มันมีทั้งเรื่องร้ายและเรื่องดี สำคัญคือคนเราจะเรียนรู้ได้มากจากประสบการณ์ที่เหมือนกับการวิ่งชนกำแพง”
“ผู้เล่นทุกคนใน WNBA เป็นนักบาสชั้นแนวหน้า และฉันเข้าใจเลยว่าทำไมลีกนี้จึงเป็นลีกที่ดีที่สุดในโลก ฉันได้รับประการณ์อันล้ำค่าอย่างมาก ฉันจะพยายามปรับปรุงการชู้ตแน่นอน และต่อจากนี้ยังมีงานหนักอีกมากมายที่รอฉันอยู่” มาชิดะ กล่าว
โอกาสการลงสนามที่น้อย และ การยังอ่อนประสบการณ์ในเวทีใหญ่ทำให้ มาชิดะ มีฤดูกาลแรกที่เรียกได้เต็มปากว่า ล้มเหลว แต่เธอยืนยันว่า จะกลับไปพิสูจน์ตัวเองใหม่อีกครั้งแน่นอน
“ฉันไม่ได้คิดถึงเรื่องการมาหารายได้ แต่การถูกเชิญมาร่วมทีมมีสทิกส์ นี่คือสิ่งที่ยอดเยี่ยม และแน่นอนฉันตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องคว้าแชมป์ WNBA กับทีมนี้ รวมถึงการสร้างโอกาสเพื่อมีส่วนร่วมกับทีมให้มากขึ้นในอนาคต” ให้สัมภาษณ์กับ The Sporting News
“ไม่ว่าสิ่งต่าง ๆ จะดำเนินไปได้ด้วยหรือไม่ดี เรื่องราวมากมายเกิดขึ้นที่อเมริกา มันจะมีกำแพง (ความท้าทาย) ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมา และประสบการณ์ที่นี่ไม่เหมือนที่ไหน ดังนั้นทุกสิ่งจะนำพาให้ฉันเติบโตขึ้น เป็นเหตุผลที่ฉันถึงเลือกมาที่นี่ในตอนนั้น”
มาชิดะ ยอมรับว่าเธอต้องเจอกับทั้งความกดดัน ความกังวลใจ และความลังเลมากมาย แต่ปัญหาเหล่านี้แหละคือโอกาสที่ช่วยให้คนเราเติบโต และ แข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม
เจ็บแล้วจำ แต่ขอทำให้สำเร็จ
อย่างที่กล่าวไปว่า เฮดโค้ชของ มีสทิกส์ ก็ยังอยากให้โอกาสกับการ์ดสาวร่างเล็กรายนี้ แต่ยังเหลือเวลาอีกราว 6 เดือน ที่ลีก WNBA เปิดฤดูกาล ทำให้ มาชิดะ ตัดสินใจรับงานกับต้นสังกัดเดิมที่ประเทศญี่ปุ่น
นี่คือข้อดีของฤดูกาลที่สั้นในสหรัฐฯ นักบาสเกตบอลหญิงหลาย ๆ คน สามารถเซ็นสัญญาลงเล่นให้่ในลีกต่าง ๆ เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ รวมถึงเป็นการขัดเกลาฝีมือและไม่ปล่อยให้ช่วงว่างทำให้ฟอร์มการเล่นของพวกเธอสนิมจับจากการร้างสนามไปนาน
มาชิดะ เองก็รับรู้ถึงระดับที่แตกต่างระหว่างบาสลีกญี่ปุ่น และ สหรัฐฯ ดี เชื่อว่าเธอจะปรับปรุงตัวเองเพื่อที่จะได้กลับในเวทีบาสหญิงที่ใหญ่ที่สุดของโลกอีกครั้ง
“รูปร่าง และ ความยาวแขน รวมถึงทักษะ พลังและสภาพร่างกาย สิ่งเหล่านี้แตกต่างจากที่ญี่ปุ่นมาก และในฐานะตำแหน่งพ้อยท์การ์ด ฉันคิดว่าการเรียนรู้ลักษณะส่วนบุคคลของผู้เล่นคนอื่นในทีม จะช่วยให้การเล่นมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ก็บางครั้งที่ฉันยังทำได้ไม่ดีและพลาดอยู่”
สิ่งที่น่าชื่นชมคือเธอเก็บทุกรายละเอียดและข้อผิดพลาดของตัวเอง หลังจากรู้แล้วต่อจากนี้คือเวลาปรับและแก้ไข การได้ลงเล่นที่ญี่ปุ่นจะช่วยสร้างความมั่นให้กับเธออีกด้วย รอลุ้นกันต่อไปว่า มาชิดะ จะสามารถรยกระดับการเล่นของเธอให้พร้อมสำหรับ WNBA 2023 ซึ่งจะเริ่มราว ๆ เดือนพฤษภาคมในปีหน้า