คิดด์ถูกหรือไม่: จริงหรือที่ แมฟเวอริกส์ ต้องชู้ต 3 คะแนนให้มากเพื่อสร้างโอกาสชนะ

Nawapon Kiatpisan

คิดด์ถูกหรือไม่: จริงหรือที่ แมฟเวอริกส์ ต้องชู้ต 3 คะแนนให้มากเพื่อสร้างโอกาสชนะ image

ช่วงการให้สัมภาษณ์สื่อ หรือ มีเดียเดย์ เริ่มขึ้นแล้ว หลายทีมจะออกมาให้สัมภาษณ์ถึงความพร้อมและตอบคำถามในประเด็นต่างๆตามที่สื่อมวลชนต้องการจะรู้ จุดหนึ่งที่น่าสนใจของ ดัลลัส แมฟเวอริกส์ คือการพูดถึงแนวทางการเล่นของทีม โดย เจสัน คิดด์ โค้ชของแมฟส์ ได้พูดถึงช่วงหนึ่งไว้น่าสนใจมาก

“นี่คือทีมที่แตกต่างจากเดิม คริสเตียน วู้ด สามารถทำคะแนนได้ และ จาเวล แม็คกี สามารถเล่นกับพิกแอนด์โรล ได้ดี รวมทั้งเราทุกคนรู้ว่า ลูก้า ดอนซิช คือเพลย์เมกเกอร์ชั้นยอด และไม่แน่ว่าผมอาจจะลองให้ทีมพยายามชู้ต 3 คะแนน ราวๆ 40 ครั้ง เหมือนที่เราทำในเพลย์ออฟเพราะนั่นคือสิ่งที่เราต้องการถ้าหากเราอยากจะชนะเกม” คิดด์กล่าวถึงทีมของเขา และทำให้เราสงสัยว่าการชู้ต 3 คะแนน สำคัญต่อทีมแมฟส์อย่างไร ทำไมจึงเป็นตัวแปรสู่ชัยชนะ

Jason Kidd Dallas Mavericks
NBA Entertainment

ฟอร์ม 3 คะแนนในรอบเพลย์ออฟ 2022 ของ แมฟเวอริกส์ เป็นอย่างไร  
 

สถิติระยะ 3 คะแนน

ระยะ 3 คะแนนฤดูกาลปกติ 82 เกม (สถิติต่อเกม)

ระยะ 3 คะแนนเพลย์ออฟ 18 เกม (สถิติต่อเกม)

รอบชิงแชมป์สาย

Vs วอริเออร์ส 5 เกม

เปอร์เซ็นชู้ตลง

35%

38%

36.8%

จำนวนครั้งที่ชู้ตทั้งหมดต่อเกม

37.4 

41.5

44.6

จำนวนลูกที่ชู้ตลงต่อเกม

13.1

15.8

16.4
 

เราจะเห็นได้ว่า ฤดูกาลปกติลูกทีมของเจสัน คิดด์ ชู้ตระยะ 3 คะแนนลงแค่ 35% ถ้าเทียบกับทั้งลีกพวกเขาอยู่เพียงอันดับ 19 เท่านั้น แต่ความพยายามในการชู้ตระดับ 37.4 ครั้งต่อเกม สูงสุดเป็นอันดับที่ 8

ขณะที่ในรอบเพลย์ออฟพวกเขาชู้ตระยะดังกล่าวได้แม่นยำขึ้นเป็น 38% ถูกจัดว่าเป็นทีมที่ชู้ตแม่นที่สุดเป็นอันดับ 3 จากทั้งหมด 16 ทีมในรอบเพลย์ออฟ จากความพยามชู้ต 41.5 ครั้ง ซึ่งสูงที่สุดเป็นอันดับ 1

อย่างไรก็ตามในรอบชิงแชมป์สายที่พวกเขาแพ้ โกลเด้น สเตท วอริเออร์ส 1-4 เกม พวกเขาลดระดับความแม่นลงมาเหลือ 36.8% แต่ยังคงพยายามชู้ตสูงถึง 44.6 ครั้งต่อเกม มากกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเพลย์ออฟถึง 3 ครั้งต่อเกม

สิ่งที่คิดด์พูดอาจจะถูกแต่ไม่ทั้งหมด ระยะ 3 คะแนนทำให้พวกเขาเก่งขึ้นในเพลย์ออฟ แต่มันกลับกลายเป็นดาบสองคมต่อทีมเมื่อการชู้ตลดประสิทธิภาพลง ดังนั้นถ้าเขาต้องการใช้พื้นที่จากวงนอกเป็นอาวุธสำคัญของทีม อาจมีหลายส่วนที่ต้องปรับเพื่อเพิ่มคุณภาพการยิงระยะเหนือเส้นโค้งของพวกเขา

Luka Doncic Draymond Green
Foto: Getty Images

ลูก้า ดอนซิช ต้องพยายามลดการชู้ตระยะ 3 คะแนนลง

ในมุมมองของ The Sporting News Thailand คิดว่า ดัลลัส แมฟเวอริกส์ เป็นทีมที่มีตัวชู้ตระยะ 3 คะแนนได้ดีหลายคนทั้ง เรจจี้ บุลล็อค, ดอเรียน ฟินลี่ย์ สมิธ, สเปนเซอร์ ดินวิดดีย์, เดวิด เบอร์ทานส์ หรือ แม้แต่ ทิม ฮาร์ดาเวย์ จูเนียร์ อย่างไรก็ตามความพยายามชู้ตราวๆ 1 ใน 4 เกิดขึ้นโดยน้ำมือของ ดอนซิช ที่ไม่ได้มีเปอร์เซ็นต์การชู้ตระยะ 3 คะแนน แม่นเหนือเพื่อนร่วมทีมมากนัก

แม้เราจะเคยเห็น ลูก้า ยิงระยะ 3 คะแนนที่ดูเหนือชั้นลงไปหลายลูก แต่ก็มีอีกหลายหนที่เขาดูฝืนชู้ตในจังหวะที่โดดประกบติดอย่างมาก จริงอยู่ที่บอลควรอยู่ในมือของคนที่เก่งที่สุดในทีมแต่ถึงเวลาที่การ์ดเสาหลักอาจจะต้องยอมลดบทบาทการเป็นมือปืนลงไป เพื่อปล่อยให้เพื่อนๆที่ถนัดงานเฉพาะทางเช่นนี้ ได้ทำหน้าที่มากกว่าตัวเขา

ส่วนหนึ่งของคำว่า ลูก้า คือเพลย์เมกเกอร์ ที่เก่งอาจจะเป็นเรื่องจริง แต่เขาจะต้องพยายามสร้างโอกาสให้เพื่อนร่วมทีมได้ชู้ตโล่งๆมากกว่า การถือบอลไว้นานเกินไปแล้วดีดให้เพื่อนร่วมทีมชู้ตในจังหวะที่เร่งหรือช็อตคล็อก 24 วินาที ใกล้จะหมดลง 

เขาอาจจะต้องผันตัวเองไปทำหน้าที่เหมือน คริส พอล การ์ดตัวเก๋าของฟินิกส์ ซันส์ ซึ่งตลอดอาชีพเขาชู้ต 3 คะแนนลง 36.9% (ดอนซิช 33.7%) แต่ พอล กลับพยายามชู้ตระยะ 3 คะแนนเพียง 3.1 ครั้งต่อเกมในซีซั่นที่ผ่านมา ต่างจากดอนซิช ซึ่งพยายามเกมหนึ่งราวๆ 8.8 ครั้งต่อเกม 

หรืออีกนัยหนึ่งคือ พอล ให้ความสำคัญกับหน้าที่เพลย์เมกเกอร์เป็นอย่างแรกและชัดเจนมาก ส่วน ดอนซิช อาจจะมีความมั่นใจในวิธีการหาจังหวะชู้ตของตัวเองแต่เขาต้องลองมองหาเพื่อนรอบๆตัวดูก่อน อีกทั้งเขาเองก็มีทักษะและไอคิวในการลุยเข้าในเพื่อดึงตัวประกบให้มารุมอยู่แล้ว หากเขาตัดสินใจเปลี่ยนมาเป็นตัวชงให้เพื่อนมากขึ้น 

อย่างไรก็ตามปัจจัยนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ดอนซิช เพียงคนเดียว แต่ยังต้องพึ่งพาความกระตือรือร้นของเพื่อนร่วมทีม และ สำคัญที่สุดคือการวาดแผนสำหรับการชู้ตระยะ 3 คะแนนที่มีประสิทธิภาพโดย เจสัน คิดด์

Davis Bertans Dallas Mavericks
NBA Entertainment

ประสิทธิภาพตัววงในที่อาจส่งผลต่อผลลัพธ์ของเหล่ามือปืน

ในขณะที่พวกเขาเป็นทีมพยายามชู้ตจากวงนอกเยอะมาก แต่การเล่นระยะ 2 คะแนนกลับสวนทางกัน พวกเขาแม่นระยะ 2 คะแนนสูงเป็นอันดับ 5 ของลีก แต่กลับพยายามเจาะเข้าในน้อยเป็นอันดับ 4 ความย้อนแย้งของตัวเลขนี้อาจสะท้อนว่าพลังเกมบุกในพื้นที่ของวงในพวกเขาไม่สามารถทำอะไรคู่แข่งได้มากนัก

เมื่อวงในไม่ทำงานและไม่สามารถขู่ทีมตรงข้าม การเล่นเกมป้องกันของฝ่ายก็อาจจะเลือกกระจายพื้นที่มากขึ้น เพื่อดักระยะชู้ตจากวงนอกและนั่นทำให้โอกาสเปิดโล่งในการได้ชู้ต 3 คะแนนของแมฟส์ กลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้น ขณะเดียวกันการที่ทีมรีบาวด์เกมบุกแค่อันดับที่ 24 ของลีก ก็เป็นอีกส่วนที่ทำให้พวกมือปืนรู้สึกกดดันมากขึ้น เพราะหากชู้ตไม่ลงทีมไม่ค่อยมีลุ้นเก็บซ้ำดาบ 2 ได้บ่อยครั้งนัก จะแตกต่างจากทีมที่มีตัวช่วยรีบาวด์เกมบุกเก่งๆ พวกเขาจะมั่นใจในการชู้ตและปล่อยบอลได้เป็นธรรมชาติมากขึ้น

ดังนั้นการที่ทีมเติม คริสเตียน วู้ด ซึ่งเล่นบุกวงในได้ดี กับ จาเวล แมคกี ซึ่งเป็นจอมขยันในการตามเก็บรีบาวด์ จึงอาจเป็นทางแก้ปัญหาในส่วนนี้

Mavericks-Bench-Getty-FTR
(NBAE via Getty Images)

กล่าวโดยสรุป: ปืนยาวต้องมี แต่ปืนสั้นก็ต้องพก และเลือกใช้ให้ถูกเวลา

คิดด์ กล่าวได้ถูกต้องว่าอาวุธที่ดีของทีมคือระยะ 3 คะแนน เพราะพวกเขามีตัวชู้ตระดับ 37% ขึ้นไปหลายคน และบางไลน์อัพ 5 คนในสนาม สามารถส่งผู้เล่นที่ชู้ตระยะ 3 คะแนนลงพร้อมกันได้ด้วยซ้ำ อีกทั้งการลุ้นแต้มจากวงนอกเป็นหลักคือดาบสองคม เพราะวันที่แม่นใครก็หยุดไม่อยู่ แต่ถ้าวันที่หาเป้าไม่เจอทีมจะลำบากเพราะองค์ประกอบของทีมไม่ได้มีตัวที่ทำคะแนนได้หลากหลายรูปแบบมากนัก นอกจาก ลูก้า และ จาเลน บรันสัน ที่ย้ายออกไปแล้ว

ดังนั้นการเลือกออฟชั่นระยะ 3 แต้ม อาจเป็นอาวุธหลักของพวกเขาได้ แต่ทีมจะต้องมีเพลย์สำรองที่ฉีกออกจากการพยายามจบด้วยการชู้ตวงนอกเพียงอย่างเดียว

การพยายามชู้ตจำนวนมากอาจเกิดขึ้นกับบางเกม ซึ่งขึ้นอยู่กับทั้งเทคนิคและกลยุทธ์ป้องกันของคู่แข่ง สภาพความพร้อมตัวผู้เล่นภายในทีม และ ฟอร์มของเหล่าบรรดามือปืนในช่วงเวลานั้น และจุดสำคัญคือ คิดด์ จะต้องหาไลน์อัพเฉพาะสำหรับการสร้างกองทัพปืนยาว โดยมีลูก้า เป็นศูนย์กลางในการกระจายบอล

และใช้ผู้เล่น 5 ตัวนี้ในการเล่นงานคู่แข่งจากระยะ 3 คะแนนแบบเน้นๆ ถ้าไม่เวิร์ค ก็ต้องปรับแผนให้ทัน ถ้าหากพวกเขาจะมองถึงแชมป์ละก็ ปืนยาวก็ควรต้องมีไว้แต่ปืนพกก็หยิบมาใช้ได้เมื่อจวนตัว

Nawapon Kiatpisan

Nawapon Kiatpisan Photo

NBA Lover