ใช่ว่าการไปไล่หวดลูกหนัง เพื่อล่าฝันยังต่างประเทศ จะสนุก และมีความสุขในทุก ๆ วินาทีอย่างที่หลายคนคิด ถึงแม้จะทำให้พวกเขามีชื่อเสียงหรือเงินทองมากขึ้นก็ตาม
เพราะนักฟุตบอลที่ไปเล่นที่ต่างประเทศทุกคน ล้วนต้องเจอกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก ที่พวกเขาจะไม่เจอแน่นอนหากเล่นที่เมืองไทยต่อไป
วันนี้ The Sporting News Thailand จึงอยากพาไปดูบททดสอบความและความยากลำบากในการไปเล่นฟุตบอลที่ต่างประเทศของนักบอลไทย
ร่วมเล่นสนุก ชิงรางวัลกับการแข่งขันฟุตบอลประจำวันได้ที่นี่
การปรับตัวต่างแดน
อย่างแรกที่นักฟุตบอลไทยทุกคนต้องเจอกับการออกไปล่าฝันยังต่างประเทศ นั่นก็คือเรื่องการปรับตัว
เพราะการใช้ชีวิตที่บ้านเกิดเมืองนอนมาตลอดทั้งชีวิต การไปอยู่ต่างที่ ต่างถิ่น ต่างภาษา และต่างวัฒนธรรม ย่อมส่งผลกับการใช้ชีวิตทั้งในและนอกสนาม
“ผมต้องปรับตัวหนักเลย เพราะเราไปต่างประเทศ รอบข้างไม่มีคนไทยที่เราจะปรึกษาได้เวลามีเรื่องอะไร”
“ส่วนเรื่องการเล่นฟุตบอล เขาเล่นเพรสซิ่ง เล่นหนัก เข้าเร็ว ไม่มีเวลาคิด ช่วงแรกผมโดนให้ซ้อมต่อคนเดียวทุกวัน”
นี่คือบทสัมภาษณ์ของ ณัฐวุฒิ สุขสุ่ม กองหน้าของ ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด ที่ได้เปิดเผยถึงช่วงเวลาการปรับตัว ในช่วงที่ไปเล่นฟุตบอลที่ญี่ปุ่นกับ เอฟซี โตเกียว ชุดยู 23 เมื่อปี 2019
รวมถึง ธีราทร บุญมาทัน ที่ประสบความสำเร็จและได้การยอมรับเป็นอย่างมากจากการเป็นแชมป์เจลีกเมื่อปี 2019 ก็ได้เปิดเผยกับ The Cloud ถึงเรื่องการปรับตัวในช่วงแรกว่า “ช่วงแรกผมร้องไห้แทบทุกวันเลย ซ้อมเสร็จก็ร้องไห้ ช่วงแรก ๆ ผมต้องอยู่คนเดียว พูดกับใครไม่รู้เรื่อง คิดถึงบ้าน และผมก็คิดถึงลูกกับภรรยามาก”
จากบทสัมภาษณ์ของทั้ง 2 คนนี้ แสดงให้เห็นว่าการปรับตัว ในสถานที่ที่เราไม่คุ้นเคย นั้นเป็นเรื่องที่ยาก และมันจำเป็นมากเช่นกัน ในการเล่นฟุตบอลที่ต่างประเทศ
ซึ่งนี่ถือเป็นบททดสอบแรกเลยก็ว่าได้ว่าพวกเขาจะผ่านมันไปได้หรือไม่
ไม่ได้รับการยอมรับ
การเป็นนักฟุตบอลที่เก่งในประเทศไทย ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปเป็นนักฟุตบอลที่ดีในต่างประเทศเสมอไป
การออกไปเล่นฟุตบอลยังต่างประเทศ ก็เหมือนปลาตัวนึงที่ได้ออกเผชิญสู่ท้องทะเลอันกว้างใหญ่ ที่มีปลานับหมื่นนับแสนสายพันธ์เวียนว่ายอยู่ในทะเลแห่งนี้
ดังนั้นเมื่อนักฟุตบอลที่ได้ออกไปเผชิญกับฟุตบอลที่ต่างประเทศ ทุกคนล้วนต้องเจอกับผู้เล่นที่เก่งกว่าตนเองมากมาย และไม่มีทางเลยที่จะไปเป็นคนสำคัญของทีมได้ทันที โดยไม่ผ่านการพิสูจน์ตัวเองในสนามซ้อม ดังนั้นทุกคนต้องใช้ฝีเท้าพิสูจน์ให้ผู้เล่นเจ้าถิ่นยอมรับในตัวเรา รวมถึงผู้จัดการทีมว่าเราสามารถเล่นได้ในเวทีระดับท็อป
ซึ่งนักเตะไทยทุกคนที่ไปอยู่ต่างประเทศ เริ่มต้นด้วยการเป็นตัวสำรองด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ธีรศิลป์ แดงดา กับ อัลเมเรีย, ธีราทร บุญมาทัน กับ วิสเซล โกเบ และมารินอส รวมถึง ชนาธิป สรงกระสินธ์ ที่สุดท้ายเขาสามารถพิสูจน์กับ คอนซาโดเล ซัปโปโร ได้ว่าเขาเป็นของจริง แม้จะมีส่วนสูงเพียง 158 เซนติเมตรก็ตาม
โดย ชนาธิป เคยให้สัมภาษณ์ถึงการไปค้าแข้งที่ญี่ปุ่นในช่วงแรกว่า
“ช่วงก่อนย้ายมาที่นี่ ก็ถูกคนไทยด้วยกันดูถูกว่า ไม่น่าจะเล่นในเจลีกได้ เพราะตัวเล็กกว่าคนญี่ปุ่น แถมเขายังเร็วและคล่องกว่าด้วย”
“ตอนที่ผมย้ายไปเล่นที่เจลีก มีเพื่อนร่วมทีมไม่กี่คนที่อยากเข้ามาทักทายผม ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะเรื่องของชาตินิยมด้วย มันเป็นสิ่งที่เราพิสูจน์ให้พวกเขาเห็นแล้วว่า ถึงแม้จะตัวเล็กแต่ก็เล่นในระดับนี้ได้”
และอย่างที่ทราบกันดีว่าท้ายที่สุด ชนาธิป ได้พิสูจน์ตัวเองได้สำเร็จ จนกลายเป็นแข้งขวัญใจของแฟนบอล ซัปโปโร และทำให้ คาวาซากิ ฟรอนตาเล่ ทีมยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ ทุ่มเงินราว 100 ล้านบาท ในการคว้าตัวเขาไปร่วมทีม
แบกความกดดันของคนไทยทั้งประเทศ
แน่นอนว่าการไปเล่นฟุตบอลที่ต่างประเทศ มันเป็นความฝันของนักฟุตบอลทุกคน แต่ถึงแม้คุณสามารถทำมันได้จริง ไม่ได้แปลว่าคุณทำตามความฝันของตัวเองสำเร็จเพียงอย่างเดียว แต่นั่นแปลว่าคุณกำลังแบกความหวังของคนไทยไปด้วย
เพราะเมื่อนักฟุตบอลไทยได้ไปเล่นที่ต่างประเทศ นั่นแสดงว่าคุณคือตัวแทนจากประเทศไทย และทำให้แฟนบอลชาวไทยทุกคนก็ต่างคาดหวังให้นักเตะจากชาติตัวเอง ประสบความสำเร็จในเวทีที่ใหญ่กว่า ดังนั้นเมื่อคุณไปถึงตรงนั้นแล้ว แฟนบอลจากบ้านเราก็หวังจะให้นักบอลไทยได้ลงเล่นทุกนัดทุกสัปดาห์
โดย ชนาธิป เคยให้สัมภาษณ์เมื่อครั้งที่เขาเปิดตัวกับ คอนซาโดเล ซัปโปโร ว่า “ขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้โอกาสผมมาที่นี่ ผมจะทำผลงานให้ดีที่สุด เพื่อให้แฟนบอลไทยและแฟนบอลญี่ปุ่นจะได้ไม่ผิดหวังในตัวผม”
เพียงเท่านี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ชนาธิป มีความกดดันมากเพียงใดในวันที่แรกที่ก้าวขาไปญี่ปุ่น และแน่อนว่าเมื่อใดที่เขาไม่ได้ลงเล่น ทางสโมสรก็เตรียมเจอคอมเมนต์จากแฟนบอลบ้านเราได้เลย ว่าทำไมไม่ส่งนักเตะไทยลงสนาม และจึงทำให้วลี “กลับบ้านเราเถอะ” กลายเป็นวลีที่ฮิตเหลือเกินในหมู่ของแฟนบอล
โดนเหยียดผิว
ถึงแม้ว่าผู้เล่นไทยส่วนใหญ่ที่ออกไปค้าแข้งนอกประเทศ จะลงเล่นอยู่ในลีกเอเชีย แต่ถึงกระนั้น ก็ไม่วายยังมีคนที่ถูกเหยียดผิวและเชื้อชาติ
โดยเคสนี้เพิ่งเกิดสด ๆ ร้อน ๆ กับ ศศลักษณ์ ไหประโคน ที่โดน 3 นักเตะเกาหลีของ อุลซาน ฮุนได คอมเมนท์เชิงหยอกล้อเรื่องสีผิวและเชื้อชาติ
โดยเหตุการณ์เริ่มต้นที่ อี มยอง-แจ โพสต์ภาพตัวเองลงบนอินสตาแกรมส่วนตัว ก่อนที่ อี คยู-ซอง จะเข้ามาแสดงความคิดเห็นโดยมีคำว่า “นักเตะโควตาอาเซียน” ขณะที่ พัค ยอง-อู เข้ามาคอมเมนต์เสริมโดยมีคำว่า “ศศลักษณ์” ซึ่งมีเจตนาพาดพิงถึง ศศลักษณ์ ไหประโคน เนื่องจาก อี มยอง-แจ มีผิวคล้ำเหมือนกับแบ็กซ้ายทีมชาติไทย
ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจแก่คนไทยและชาวเป็นอย่างมาก เนื่องจากข้อความที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ มีเจตนาชัดเจนในการเหยียดผิวและเชื้อชาติของชาวอาเซียน
ยังดีที่เรื่องการเหยียดผิวมันเกิดขึ้นหลังจากที่ ศศลักษณ์ กลับมาจากการค้าแข้งที่ประเทศเกาหลีแล้ว ไม่เช่นนั้นการใช้ชีวิตที่ต่างแดนอาจจะลำบากกว่านี้ก็เป็นได้ เพราะนอกจากสภาพร่างกายที่ต้องแข็งแกร่งแล้ว สภาพจิตใจก็ต้องเข้มแข็งไม่แพ้กัน
การไปเล่นฟุตบอลที่ต่างประเทศอาจเติมเต็มความฝันในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพที่สมบูรณ์แบบได้จริง แต่มันก็ต้องแลกมากับอะไรใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยเจอ ซึ่งนี่ถือเป็นบททดสอบชั้นเยี่ยม ไม่ใช่แค่ในฐานะนักฟุตบอลอาชีพเท่านั้น แต่มันเป็นแบบทดสอบสำคัญของชีวิตพวกเขาเลยก็ว่าได้
NBA LEAGUE PASS สมัครเพื่อชมการแข่งขันเอ็นบีเอสดทุกนัดคลิก