หลังจากไทยลีกแข่งขันได้ 10 สัปดาห์ มาโกโตะ เทกุระโมริกลายเป็นเฮดโค้ชไทยลีกคนแรกที่อำลาตำแหน่งระหว่างฤดูกาล หลังพาบีจี ปทุม ยูไนเต็ดแพ้ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด 0-2 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา
นับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติอย่า่งเป็นทางการ อดีตเฮดโค้ชทีมชาติญี่ปุ่นชุดอายุไม่เกิน 23 ปี เป็นโค้ชที่ตกงานช้าที่สุดถึง 10 สัปดาห์ ต่างจากไทยลีกฤดูกาลก่อนหน้านี้ ที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ในการตัดสินอนาคตโค้ชคนใหม่ของทีมแล้ว
อย่างไรก็ตาม เทกุระโมริ ไม่ใช่โค้ชคนแรกที่ตกงานช้าที่สุด โดยโค้ชที่ตกงานช้าที่สุดเท่าที่มีการบันทึกสถิติ ได้แก่ ประภาส ฉ่ำรัศมี อดีตเฮดโค้ชศุลกากร (คัสตอมส์ ยูไนเต็ด ในปัจจุบัน) ที่ประกาศลาออกหลังจบเลกแรกในฤดูกาล 2008 โดยพาทีมศุลกากรชนะแค่ 2 จาก 12 นัด ซึ่งศุลกากรจบฤดูกาลไทยลีก 2008 ด้วยการตกชั้นหลังจบอันดับที่ 16 ของตาราง
สถิติเฮดโค้ชไทยลีกรายแรกที่ตกงานเร็วที่สุดในแต่ละฤดูกาล
ฤดูกาล | โค้ช | สโมสร | สัปดาห์ที่ออกจากตำแหน่ง | ผลงานก่อนออกจากตำแหน่ง |
2008 | ประภาส ฉ่ำรัศมี | ศุลกากร | 12 | ชนะ 2 เสมอ 3 แพ้ 7 |
2009 | สุรศักดิ์ ตังสุรัตน์ | เมืองทอง ยูไนเต็ด | 7 | ชนะ 3 เสมอ 4 |
2010 | เฟรดดี้ มารินโญ่ | ศรีสะเกษ เอฟซี | 2 | เสมอ 1 แพ้ 1 |
2011 | เรืองฤทธิ์ แสงแก้ว | ราชนาวี | 9 | ชนะ 1 เสมอ 4 แพ้ 4 |
2012 | สมชาย ฉ่วยบุญชุม | ทีทีเอ็ม เชียงใหม่ | 2 | เสมอ 2 |
2013 | ฟิล สตับบินส์ | บางกอกกล๊าส | 1 | แพ้ 1 |
2014 | สก๊อต คูเปอร์ | เมืองทอง ยูไนเต็ด | 6 | ชนะ 4 เสมอ 1 แพ้ 1 |
2015 | สมชาย ฉ่วยบุญชุม | การท่าเรือ เอฟซี | 5 | ชนะ 1 แพ้ 4 |
2016 | เซร์จิโอ้ อปาเรซิโด้ | สุพรรณบุรี เอฟซี | 4 | ชนะ 2 เสมอ 1 แพ้ 1 |
2017 | ดุสิต เฉลิมแสน | ศรีสะเกษ เอฟซี | 3 | แพ้ 3 |
2018 | ดราโก้ มามิช | ชัยนาท | 1 | เสมอ 1 |
2019 | ฟรานเชสก์ บอสช์ | ราชบุรี | 4 | ชนะ 1 แพ้ 3 |
2020-21 | ชูศักดิ์ ศรีสุข | ระยอง เอฟซี | 3 | แพ้ 3 |
2021-22 | สุรพงษ์ คงเทพ | เชียงใหม่ ยูไนเต็ด | 7 | ขนะ 1 เสมอ 2 แพ้ 4 |
2022-23 | มาโกโตะ เทกุระโมริ | บีจี ปทุม ยูไนเต็ด | 10 | ชนะ 5 เสมอ 2 แพ้ 3 |
ปัญหาครอบครัว, ติดราชการ, ขัดแย้งผู้บริหาร
ปัญหาส่วนใหญ่ที่เฮดโค้ชไทยลีกตกงานในระยะอันสั้น ได้แก่ นโยบายการทำทีมของโค้ชกับผู้บริหารไม่สอดคล้องกัน จึงทำให้ต้องโบกมือลาก่อนที่สถานการณ์จะแตกหักไปมากกว่านี้
แต่มีโค้ชบางคนที่ประกาศอำลาตำแหน่งเนื่องจากปัญหาครอบครัว เช่น คูเปอร์กับเมืองทอง (2014) หรือมามิชกับชัยนาท (2018) ทำให้ต้องรีบกลับบ้าน
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเฮดโค้ช ได้แก่ การติดงานประจำ ยกตัวอย่างเช่น นาวาเอกสุรศักดิ์ ตังสุรัตน์ ที่รับราชการเป็นทหารเรือ ทำให้ไม่สามารถคุมทีมฝึกซ้อมได้อย่างเต็มที่ ทำให้ต้องแยกทางกับสโมสรเพื่อให้ตนเองสามารถทุ่มเทกับงานประจำให้มากขึ้น และเลือกรับงานด้านฟุตบอลที่ไม่จำเป็นดูแลต้องมาที่สโมสรทุกวัน เช่น การรับงานเป็นประธานเทคนิคสโมสรสมุทรปราการ เอฟซี เมื่อฤดูกาล 2021-22 หลังพักรักษาตัวจากอาการโรคปลายประสาทอักเสบ หรือ โรคกิลแลงบาร์แร มานานร่วมปี
เปลี่ยนแปลงเร็วใช่ว่าจะดี
ผู้บริหารสโมสรส่วนใหญ่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งเฮดโค้ชตั้งแต่เนิ่นๆ จะทำให้ทีมมีผลงานที่ดีขึ้น แต่จากสถิติที่ทำการวิเคราะห์ขึ้นมา 7 จาก 15 สโมสรที่ทำการปลดเฮดโค้ชเป็นทีมแรกของฤดูกาล ล้วนจบลงด้วยการตกชั้น ตั้งแต่ ศุลกากร (2008), ราชนาวี (2011), ทีทีเอ็ม เชียงใหม่ (2012), การท่าเรือ (2015), ศรีสะเกษ (2017), ระยอง (2020-21) และเชียงใหม่ ยูไนเต็ด (2021-22)
ยกเว้นสโมสรเมืองทอง ยูไนเต็ด ที่เปลี่ยนแปลงเฮดโค้ชจากนาวาเอหกสุรศักดิ์ ตังสุรัตน์ เป็นอรรถพล ปุษปาคมในปี 2009 และจบลงด้วยการเป็นแชมป์ลีกสูงสุดครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสรทันทีที่เลื่อนชั้นขึ้นมา