เดินหมากรุกฆาตตัวเอง : เปิดเหตุผลโปรเจ็คต์พัฒนา ‘ฟุตบอลจีน’ พังไม่เป็นท่า

The Sporting News

เดินหมากรุกฆาตตัวเอง : เปิดเหตุผลโปรเจ็คต์พัฒนา ‘ฟุตบอลจีน’ พังไม่เป็นท่า  image

ครั้งหนึ่ง สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เผยให้รู้ถึงความฝันสำหรับฟุตบอลประเทศจีนที่ต้องการให้เห็นของเขาเมื่อปี 2011 นั่นคือการไปเล่นฟุตบอลโลก รวมถึงเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก และเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกให้ได้ 

โดยที่ความฝันนั้นไม่ใช่ความฝันที่พูดไปเฉยๆ เพราะเขามีแผนระยะยาวนับตั้งแต่ปี 2016-2050 กับการสร้างรากฐานของฟุตบอลประเทศจีนขึ้นมาใหม่ ต่อยอดไปถึงทีมชาติทั้งชาย และหญิงที่จะกลายเป็นหนึ่งในทีมที่อยู่อันดับสูงๆในการจัดอันดับของฟุตบอล 

ก่อนที่ปี 2050 ทีมชาติจีนต้องติดอยู่ 20 อันดับทีมชาติที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก และเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก พร้อมกับคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้ในท้ายที่สุด 

นั่นคือความฝันที่ดูสวยงามในตอนแรก แต่กลับมาดูความจริงในปี 2022 มันไม่มีอะไรใกล้เคียงกับแผนการที่วางไว้ และมีแต่ทีท่าว่าวงการฟุตบอลจีนจะเข้าสู่ขาลงมากขึ้นเรื่อย ๆ 

เกิดอะไรขึ้นกับวงการฟุตบอลจีน ทำมหาโปรเจ็คต์ของพวกเขาถึงพังไม่เป็นท่า ติดตามไปพร้อมกับเรา  

เปลี่ยนแปลงด้วยฟุตบอล

ประเทศจีนในศตวรรษที่ 21 พวกเขาคือมหาอำนาจในเวทีโลก พวกเขาต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางเศรษฐกิจ จากการผลิตสินค้าคุณภาพต่ำ สู่การมีซอฟต์เพาเวอร์ในรูปแบบต่างๆ เหมือนกับที่เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นประสบความสำเร็จ เพราะจะทำให้พวกเขามีภาพลักษณ์ที่ดี ไม่ต่างจากชาติทางโลกตะวันตก

เพราะจีนต้องการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของประเทศ จากที่ถูกมองเป็นแค่ชาติระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ มาตลอด และไม่เคยได้รับการยอมรับที่ดีในโลกตะวันตก พวกเขามองว่าฟุตบอลนี่แหละคือกุญแจสำคัญ ในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้

Mundial China

แฟนฟุตบอลรู้กันดีว่าทุกวันนี้ ฟุตบอลมีประโยชน์มหาศาลด้านธุรกิจ การมีลีกฟุตบอลที่แข็งแกร่งในประเทศ สามารถสร้างรายได้จำนวนมากกลับมา 

ฟุตบอลสามารถช่วยสนับสนุนด้านเศรษฐกิจได้จริง และจีนก็เห็นประโยชน์ในเรื่องนี้ดีกว่าใคร การพัฒนาเศรษฐกิจที่มีฟุตบอลมาเกี่ยวข้องนั้นสำคัญมากๆ เพราะว่าฟุตบอลสามารถช่วยได้หลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแฟนบอลที่เข้าสนาม, ชุดแข่งหรือสินค้าต่างๆเกี่ยวกับฟุตบอล และการรับชมเกมการแข่งขันทางโทรทัศน์หรือออนไลน์ 

ถ้าหากว่าต้องการพัฒนาเศรษฐกิจ ฟุตบอลช่วยได้มากเลยทีเดียว แต่จากที่จีนมองมันไม่ได้มีแค่นั้น พวกเขามองไปถึงการเปลี่ยนแปลงมุมมองของคนภายนอกต่อประเทศของพวกเขาด้วย ซึ่งถือเป็นอีกเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน 

โดยจุดเริ่มต้นของไอเดียนี้ ต้องย้อนไปในโอลิมปิก เกมส์ ที่ปักกิ่งปี 2008 รัฐบาลจีนรับรองมูลค่าการลงทุน 45,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.7 ล้านล้านบาทไทย สำหรับรายการนี้ 

ซึ่งถือเป็นการร่วมสร้างความภาคภูมิใจของชาติ ช่วยรัฐบาลในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีกับโอลิมปิกในครั้งนั้น จนทำให้รัฐบาลจีนเจอทางสว่างรู้ว่าการพัฒนากีฬา สามารถทั้งสร้างเม็ดเงินมหาศาลให้ประเทศ อีกทั้งสร้างภาพลักษณ์ที่ดีได้อีกด้วย

ก่อนที่แผนการพัฒนาฟุตบอลเป็นซอฟต์เพาเวอร์ จะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2010 โดยรัฐบาลจีนให้เงินจำนวน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 19,000 ล้านบาท กับประเทศแองโกลา ในรูปแบบของสนามฟุตบอล 4 แห่งสำหรับแข่งขัน เพื่อใช้ในรายการแอฟริกันคัพออฟเนชั่นส์ 

ก่อนที่ในอีกไม่กี่ปีต่อมาประเทศจีนกลายเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของแองโกลา โดยเฉพาะน้ำมัน ซึ่งเรื่องฟุตบอลช่วยให้มีเครือข่ายพูดคุยกันระหว่างประเทศได้ง่ายขึ้นจากตัวแทนต่างๆ 

นอกจากนี้ในระดับภายในประเทศ รัฐบาลจีนได้สนับสนุนให้กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ของจีน ลงทุนเงินมหาศาลไปกับวงการฟุตบอลจีน ด้วยการเข้ามาเป็นเจ้าของทีมในลีกฟุตบอลจีน และดึงนักฟุตบอลระดับโลกที่มีเชื่อเสียงตบเท้าเข้ามาเล่นใน ไชนีส ซูเปอร์ ลีก 

Shanghai Shenhuai - Chinese FA Cup

ทุกอย่างเหมือนจะไปได้สวย แต่เส้นทางที่จะไปทำตามความฝันของประเทศจีน ดูเหมือนว่ามันจะมีปัญหาอยู่เหมือนกัน

ไม่เป็นไปตามแผน  

ตามแผนที่จีนได้วาดฝันเอาไว้ คือการนำฟุตบอลเข้ามาช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น ก่อนช่วยให้ภาพลักษณ์ประเทศของพวกเขาดีขึ้นตามไปด้วย นั่นดูจะเป็นอะไรที่สวยงามมากๆ หากทุกอย่างลงเอยได้ด้วยดีตามแผนที่ต้องการทั้งหมด 

แต่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น แทนที่จะเป็นการช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น มันกลับกลายเป็นแย่ลง 

ปัญหาเกิดขึ้นหลักอย่างแรก คือไชนีส ซูเปอร์ ลีก การที่จะทำให้ลีกพัฒนาขึ้นได้จนกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก หรือจะทำให้แฟนฟุตบอลหันมาสนใจ จำเป็นที่จะต้องลงทุนเป็นจำนวนมหาศาล 

เป้าหมายของการพัฒนาไชนีส ซูเปอร์ ลีก คือต้องแข่งกับลีกดังของยุโรปให้ได้ ดังนั้นสโมสรภายในจีนจะต้องไปแข่งแย่งนักเตะชื่อดังกับทีมระดับแถวหน้าของยุโรป เพื่อเป็นการดึงดูดดาวดังเพื่อให้ลีกกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น 

แต่การที่ไม่ได้มีการแข่งขันรายการยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก หรือเป็น 5 ลีกใหญ่ของยุโรปที่มีสปอนเซอร์มหาศาลมาสนับสนุน ทางเดียวที่ลีกจีนจะแย่งยอดนักเตะเหล่านั้นมาร่วมทีมได้ คือต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อเป็นการล่อใจนักเตะเหล่านั้น ให้อยากที่จะย้ายมาร่วมทีม 

Oscar - cropped

ดังนั้นแทนที่การพัฒนาลีกฟุตบอลจีนจะเป็นการช่วยเศรษฐกิจจีนให้ดีขึ้น มันกลายเป็นการปล่อยเงินไหลออกนอกประเทศ ที่ไม่ดีแม้แต่น้อยในแง่ของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบชาตินิยมจัดสไตล์จีน และผู้มีอำนาจของจีนก็รู้ว่ามันกลายเป็นการฉุดรั้ง มากกว่าที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ

โดยในปี 2018 มีการแก้ไขปัญหา ผ่านการจัดตั้งการเก็บภาษีในลีกฟุตบอลขึ้นมา หากสโมสรใดจ่ายเกินกว่า 5 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 215 ล้านบาท สำหรับนักเตะนอกประเทศ จะต้องจ่ายอีกเท่าหนึ่งให้กับสมาคมฟุตบอลจีน 

ก่อนที่จะมาเพิ่มในส่วนของเพดานค่าเหนื่อยเพิ่มอีกในปี 2020 เพื่อจำกัดค่าเหนื่อยนักเตะจากนอกประเทศ ไม่ให้มากจนเกินไปเมื่อย้ายมาเล่นในไชนีสซูเปอร์ลีก 

รวมถึงการตัดชื่อบริษัทต่างๆออกจากชื่อสโมสรในลีก เป็นการขัดขวางไม่ให้บริษัทต่างๆเหล่านั้นมามีส่วนร่วมมากขึ้นในการลงทุนในลีก 

ซึ่งการทำแบบนี้ทั้งหมด ในมุมมองของรัฐบาลก็เพื่อเป็นการปกป้องเศรษฐกิจในวงกว้างของประเทศ เพราะไม่ต้องงานให้เงินของ “ประเทศจีน” ต้องไหลออกนอกประเทศ กลายเป็นสมบัติของชาติอื่น ซึ่งเหมือนกับการยื่นอาวุธให้กับศัตรูในมุมของจีน 

อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ ก็สะท้อนถึงความไม่เข้าใจของรัฐบาลจีน ในกีฬาฟุตบอลของโลกเสรีแม้แต่น้อย เพราะจีนมองแค่ความสำเร็จของพรีเมียร์ลีกที่หารายได้ระดับพันล้านให้กับประเทศอังกฤษ และอยากจะเดินรอยตาม 

แต่ไม่เข้าใจว่า กว่าที่พรีเมียร์ลีกจะประสบความสำเร็จแบบนี้ ต้องใช้เวลาอย่างยาวนานหลายปี แถมต้องสร้างขึ้นจากพื้นฐานรากหญ้า ต้องมีแฟนบอลท้องถิ่นที่ถวายชีวิตให้ทีมฟุตบอลเสียก่อน ทุกอย่างถึงจะประสบความสำเร็จ ไม่ใช่ใช้เงินแก้ปัญหาแบบที่จีนทำ จนสุดท้ายเป็นประเทศจีนที่รับไม่ได้กับผลลัพธ์ที่ตามมา 

Carlos Tevez Shanghai Shenhua

ความฝันที่พังทลาย

นอกจากจะเกิดปัญหาภายในประเทศแล้ว ปัญหานอกประเทศก็ส่งผลกระทบต่อวงการฟุตบอลจีนเช่นกัน โดยแผนงานในการสร้างฟุตบอลของสี จิ้นผิง ในช่วงเริ่มต้นยุค 2010 เขาได้ให้การสนับสนุนนักลงทุนชาวจีน ให้ไปสนใจในการลงทุนกับสโมสรในยุโรปมากขึ้น 

ในช่วงปี 2014-2017 สโมสรยักษ์ใหญ่ทั้ง เอซี มิลาน, อินเตอร์ มิลาน หรือ แอตเลติโก้ มาดริด หรือทีมเล็กๆ อีกจำนวนมาก ถูกนายทุนจีนเข้าไปเทคโอเวอร์เป็นเจ้าของ แน่นอนว่าเงินของคนจีนย่อมไหลออกนอกประเทศไปด้วย กับการบริหารทีมฟุตบอลต่างแดน ซึ่งตีเป็นตัวเลขง่าย ๆ ก็มากกว่า 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณเกือบ 1 แสนล้านบาทไทย

พอเวลาผ่านไป ทางรัฐบาลจีนกังวลเรื่องการเงินรั่วไหลออกนอกประเทศจนหมด ทำให้ในปี 2017 พวกเขามีเกณฑ์ในการลงทุนในต่างประเทศขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะจำกัดการลงทุนในประเทศของคนจีนทุกคน แน่นอนว่าการลงทุนกับสโมสรกีฬาอยู่ในส่วนที่ถูกจำกัดด้วยเช่นกัน

ผลลัพธ์ที่ตามมาคือกลุ่มทุนจีนก็เริ่มถอนทุนออกจากวงการฟุตบอลกันหมด ซึ่งก็ส่งผลกระทบกลับมายังฟุตบอลในประเทศ เพราะเมื่อไม่มีธุรกิจต่างประเทศให้ต่อยอด ก็ไม่มีนักธุรกิจคนไหนอยากลงทุนกับฟุตบอลในประเทศ ยิ่งรัฐบาลเปลี่ยนใจไม่สนับสนุนแบบนี้ ไม่มีเหตุผลที่นักธุรกิจคนไหนอยากลงทุนกับฟุตบอลให้ขัดใจรัฐบาล ที่เป็นเหมือนกับ “พระเจ้า” ที่ไร้ทางต่อกรของชาวจีนอย่างแน่นอน

ในตอนนี้เวลาผ่านไปกว่า 10 ปีแล้วนับตั้งแต่ สี จิ้นผิงประกาศถึงความฝันของเขากับฟุตบอลในจีน ชัดเจนว่าเขาต้องการขึ้นทางด่วนไปให้เร็วที่สุด หากสุดท้ายโปรเจกต์ฟุตบอลของเขาประสบความสำเร็จ 

แต่ความจริงที่พบเจอมันคือการขายฝัน พวกเขาแหกโค้งพลิกคว่ำจากทางด่วนที่พวกเขาสร้างมากับมือ และสิ่งที่ต้องชัดใช้คือภาวะฟองสบู่แตกของวงการฟุตบอลจีน ที่ในตอนนี้ไม่เห็นวี่แววของการพัฒนาขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจของเกมลูกหนังได้เลย 

Getty Images

แต่แผนการที่ล้มเหลวครั้งนี้ ก็มีแง่ดีเช่นกัน เพราะข้อดีที่กลับมาคือการที่ลีก จะสามารถให้ความสำคัญสร้างนักเตะดาวรุ่งจีนขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เพราะมีพื้นที่ในการพัฒนามากขึ้นกว่าเดิมเพื่อที่จะส่งให้กับทีมชาติต่อไป เพื่อทำตามความฝันที่ได้วาดเอาไว้สำหรับฟุตบอลโลก    

อย่างไรก็ตาม โปรเจ็คต์นี้คือความล้มเหลวของจีนอย่างไม่ต้องสงสัย และเป็นภาพสะท้อนให้เห็นอีกครั้งว่า การจะสร้างฟุตบอลที่มีคุณภาพไม่มีทางเกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน ทุกอย่างต้องใช้เวลาในการสร้าง ต่อให้มีเงินมหาศาลก็ซื้อทางลัดไม่ได้ และใครที่คิดจะใช้ทางลัด ก็ต้องเรียนรู้ที่จะเจอความเจ็บปวด ในแบบเดียวกับที่วงการฟุตบอลจีนต้องเผชิญอยู่ในตอนนี้ 

 

 

The Sporting News

The Sporting News Photo

Beyond the score: The sports world explained. The Sporting News has been a trusted sports media publisher since 1886, delivering the news, insights and entertainment that fans around the world need to know.