ความผิดหวังของคนรักประชาธิปไตยไทยเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อการโหวตนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศไทยล่มไม่เป็นท่า ทั้งจากการออกเสียงของส.ว.ที่ไม่เป็นธรรม และส.ส. ฝ่ายคู่แข่ง
ซึ่งในกลุ่มคนที่โหวตการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็มีคนกีฬาหลายคนที่โหวตคัดค้านการโหวตครั้งนี้
บทความที่เกี่ยวข้อง : เปิดรายชื่อคนกีฬาในสภา ใครบ้างโหวต-ไม่โหวตพิธาเป็นนายกฯ
ไม่ว่าจะเป็น
- กรวีร์ ปริศนานันทกุล : รักษาการประธานไทยลีก (ภูมิใจไทย) : ไม่เห็นชอบ
- ชาญวิทย์ ผลชีวิน : อดีตผู้จัดการทีมชาติไทย (ส.ว.) : งดออกเสียง
- พานุวัฒน์ สะสมทรัพย์ : ประธานสโมสรนครปฐม ยูไนเต็ด (ชาติไทยพัฒนา) : งดออกเสียง
- ไชยชนก ชิดชอบ : ผู้บริหารสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด (ภูมิใจไทย ) : ไม่เห็นชอบ
- อนุชา นาคาศัย : อดีตประธานสโมสรชัยนาท ฮอร์นบิล (รวมไทยสร้างชาติ) : ไม่เห็นชอบ
- บุญยิ่ง นิติกาญจนา : อดีตประธานสโมสรราชบุรี เอฟซี (พลังประชารัฐ) : ไม่เห็นชอบ
- วราวุธ ศิลปอาชา : ประธานสโมสรสุพรรณบุรี เอฟซี (ชาติไทยพัฒนา) : งดออกเสียง
ไม่ว่าจะมองมุมไหน เห็นได้ชัดว่าคนกีฬาจำนวนไม่น้อย กลายเป็นตัวขัดขวางการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงของประเทศไทย และเรามีวิธีใดที่จะสร้างประชาธิปไตยในวงการกีฬาได้บ้าง?
ในยุคที่ผู้คนต่างต้องการความเป็น “ประชาธิปไตย” จึงทำให้มีแนวทางการชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิของความเป็นมนุษย์อยู่หลายวิธี ซึ่งแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ
ซึ่งเรื่องดังกล่าวทำให้ ยีน ชาร์ป นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้เขียนหนังสือ เพื่อนำเสนอวิธีการเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสันติ และหนึ่งในเกือบ 200 ข้อที่ ยีน ชาร์ป นำเสนอ นั่นก็คือ “การไม่ให้ความร่วมมือและระงับการกิจกรรมกีฬาในประเทศ”
เพราะหากจะบอกว่า “กีฬา” กับ “การเมือง” คือสิ่งที่เป็นเส้นขนานซึ่งกันและกัน ก็ไม่ถูกต้องแม้แต่น้อย
เนื่องจากในหลายประเทศ ได้ใช้กีฬาเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องประชาธิปไตย และบางประเทศ กีฬาไม่ต่างอะไรจากพิษร้ายที่คอยสร้างอำนาจและเสริมบารมีให้กับระบอบเผด็จการ
โดยในหนังสือ “จากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย แผนการสู่อิสรภาพ” ของ ยีน ชาร์ป เขาได้นำเสนอวิธีการเรียกร้องประชาธิปไตยและล้มล้างเผด็จการ โดยปราศจากความรุนแรงไว้มากถึง 198 วิธี
และอย่างที่เกริ่นไปว่าหนึ่งในวิธีการเรียกร้องประชาธิปไตยที่ ยีน ชาร์ป ได้เขียนไว้ นั่นก็คือ “การไม่ให้ความร่วมมือและระงับการกิจกรรมกีฬาในประเทศ” เพราะ ชาร์ป มองว่านี่เป็นอีกรูปแบบ ที่จะสามารถสร้างความกดดันแก่สังคม รวมถึงผู้มีอิทธิพลในประเทศนั้น ๆ
ซึ่งวิธีการนี้ไม่ใช่เพียงแค่การไม่ไปรับชมเกมการแข่งขันในสนามเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการไม่รับชมการแข่งขันผ่านการถ่ายทอดสด หรือการไม่ซื้อสินค้าที่ระลึกด้วยเช่นกัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความแน่วแน่ต่อความต้องการประชาธิปไตย
และแน่นอนว่าวิธีนี้ไม่ได้ต่างอะไรจากการคว่ำบาตรหรือบอยคอตองค์กรกีฬานั้น ๆ ที่อยู่ภายใต้ระบอบของเผด็จการ เพื่อไม่ให้มีรายได้ หรือกำไร เข้าไปอยู่ในอำนาจทางการเงินของพวกเขา และที่สำคัญมันเป็นการกดดันให้องค์กรดังกล่าว หันกลับมาอยู่ข้างประชาชน และนำประชาธิปไตยกลับคืนสู่ประเทศ
อย่างไรก็ตาม ชาร์ป ได้ระบุว่าวิธีการเรียกร้องประชาธิปไตยหากทำเพียงแค่กลุ่มเล็ก ๆ อาจจะไม่เป็นผล ดังนั้นการจะเรียกร้องประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็นวิธีระงับการกิจกรรมกีฬาในประเทศ หรือวิธีการอีก 197 วิธีของเขา ต้องอาศัยกลุ่มคนหมู่มากในการต่อต้านความไม่ยุติธรรม และต้องช่วยกันในการนำเสรีภาพกลับคืนสู่ประชาชน
ร่วมสมัครเล่นสนุก ชิงรางวัลกับการแข่งขันฟุตบอลประจำวันได้ที่นี่