กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากมีภาพคอนเสิร์ตของแบมแบม GOT7 ตั้งเวทีกลางสนาม ธันเดอร์โดม สเตเดี้ยม สนามฟุตบอลของทีมเมืองทอง ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ตครั้งนี้
แฟนบอลบางส่วนไม่พอใจที่เวทีคอนเสิร์ตตั้งอยู่กลางสนาม อย่างไรก็ตาม ก็เกิดข้อแย้งจากทางแฟนคลับของแบมแบมว่า สุดท้ายการจัดคอนเสิร์ตจะกลับมาเป็นประโยชน์ของเมืองทอง ในเมื่อสุดท้ายการจัดคอนเสิร์ตตลอดเดือนตุลาคมที่สนามธันเดอร์โดม สร้างรายได้ให้สโมสรเมืองทองถึง 25 ล้านบาท
ถามว่าเงิน 25 ล้านบาทมากขนาดไหน? คำตอบคือมากกว่าเงินที่ได้รับในฐานะแชมป์ไทยลีกถึง 2.5 เท่า มากกว่ารายได้จากเกมบิ๊กแมทช์ “บุรีรัมย์-เมืองทอง” เกือบ 2.5 เท่าเช่นกัน และเงินก้อนนี้ สามารถจ่ายค่าเหนื่อยของนักเตะของเมืองทองได้ถึง 1 ใน 4 ของฤดูกาล
เห็นได้ชัดเจนว่า การปล่อยสนามฟุตบอลให้จัดคอนเสิร์ตมีแต่เรื่องดี ๆ ของสโมสรฟุตบอล แต่เพราะอะไรถึงยังมีความไม่พอใจของแฟนบอลเกิดขึ้นเสมอ ยามมีคอนเสิร์ตไปจัดในสนามฟุตบอล
วันนี้ The Sporting News มาขุดคุ้ยเบื้องหลังว่า ปัญหาที่แท้จริงอยู่ตรงไหน ติดตามไปในบทความของเรา โดย “บก.จิมมี่” ณัฐนนท์ จันทร์ขวาง
ร่วมสมัครเล่นสนุก ชิงรางวัลกับการแข่งขันฟุตบอลไทยได้ที่นี่
นอกจากนี้คุณสามารถ เช็คช่องทางที่ดีที่สุดในการลุ้นโชคได้ที่นี่
ทีมบอลไทยต้องให้สนามจัดคอนเสิร์ตเพื่อหาเงินอยู่รอด แต่ทำยังไงถึงถูกใจแฟนบอล?
จัดคอนเสิร์ตในสนามฟุตบอลคือเรื่องปกติ
สิ่งหนึ่งที่แฟนบอลไทยทุกคนต้องเข้าใจคือการจัดคอนเสิร์ตในสนามบอลคือเรื่องปกติ เพราะไม่ได้เกิดขึ้นที่ไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก
ยกตัวอย่างในเดือนพฤษภาคม 2023 ที่ผ่านมา TWICE วงเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังจากเกาหลีใต้ จัดคอนเสิร์ตที่สนามฟุตบอลอย่าง ยันมาร์ สเตเดี้ยม รังเหย้าของ เซเรโซ โอซาก้า ทีมฟุตบอลชื่อดังของญี่ปุ่น และอาจิโนะโมโตะ สเตเดี้ยม รังเหย้าของ เอฟซี โตเกียว ทีมฟุตบอลในเจลีกเช่นกัน ซึ่งการจัดคอนเสิร์ตของ TWICE ก็จบลงด้วยดี ไม่มีปัญหาดราม่าอะไร
หรือในฝั่งของยุโรป สนามฟุตบอลก็ถูกใช้จัดคอนเสิร์ตเป็นว่าเล่น ไม่ว่าจะเป็น Blur สุดยอดวงดนตรีจากอังกฤษ ที่จัดคอนเสิร์ตในเวมบลีย์ สเตเดี้ยม เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หรือ เลียม กัลลาเกอร์ อดีตนักร้องนำวง Oasis ก็จัดคอนเสิร์ตที่สนาม เอติฮัด สเตเดี้ยม รังเหย้าของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ทีมโปรดของเลียมในปี 2022
รวมถึงวง Blackpink ที่ในการทัวร์คอนเสิร์ตในปี 2023 พวกเธอจัดคอนเสิร์ตในสนามฟุตบอลระดับชาติ ถึง 6 ประเทศ ตั้งแต่ ไทย, สิงคโปร์, เวียดนาม, มาเลเซีย, ไต้หวัน และฝรั่งเศส
ดังนั้น การจัดคอนเสิร์ตในสนามฟุตบอลไม่ใช่เรื่องผิดแน่นอน และชุดความคิดที่บอกว่า “การจัดคอนเสิร์ตในสนามฟุตบอลคือเรื่องไม่ดี” อันนั้นคือเรื่องที่ผิดแน่นอน
แต่ทำไมการจัดคอนเสิร์ตในสนามฟุตบอลถึงเกิดขึ้นทั่วโลก เราแวะไปหาคำตอบเรื่องนี้กันก่อน
ทางเลือกที่เลือกไม่ได้ของสโมสรฟุตบอลไทย
อีกสิ่งที่แฟนบอลต้องยอมรับให้ได้คือ คำว่า “ฟุตบอลเพื่อแฟนบอล” ได้ตายจากโลกไปนานแล้ว เพราะทุกวันนี้ “ฟุตบอลคือธุรกิจ” ฟุตบอลต้องสร้างรายได้ สร้างเงินเข้ากระเป๋าได้ นี่คือความจริงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม
ยิ่งวงการฟุตบอลไทย ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะในความจริงฟุตบอลไทยแจ้งเกิดขึ้นได้ ในฐานะโมเดลทางธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้หรือผลประโยชน์ให้กับเจ้าของทีม ไม่ว่าจะในทางตรงหรือทางอ้อม
บางคนได้เงินเพิ่ม, บางคนได้โปรโมตแบรนด์ธุรกิจ, บางคนได้สร้างฐานเสียงทางการเมือง, บางคนได้สร้างภาพลักษณ์ แต่ไม่ว่าจะได้อะไร เจ้าของทีมฟุตบอลต้องได้ผลประโยชน์จากทีมฟุตบอลไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
(ไม่ต้องพูดถึงการไม่ปล่อยตัวนักเตะไปเล่นทีมชาติไทย ซึ่งแสดงให้เห็นชัดว่า หลายทีมฟุตบอลเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัวมากแค่ไหน)
แน่นอนว่า ทีมฟุตบอลไทยไม่สามารถอยู่ได้หากขาดผลประโยชน์ที่เข้ามา และการจัดคอนเสิร์ตผ่านการใช้สนามฟุตบอล ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สร้างผลประโยชน์มหาศาลให้กับทีมฟุตบอล เห็นได้ชัดกับการที่เมืองทองปล่อยสนามให้ใช้เป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ต และได้เงินกลับมาถึง 25 ล้านบาท
เหมือนที่เราบอกไปข้างต้น เงิน 25 ล้านบาทมากขนาดไหน? คำตอบคือมากกว่าเงินที่ได้รับในฐานะแชมป์ไทยลีกถึง 2.5 เท่า มากกว่ารายได้จากเกมบิ๊กแมทช์ “บุรีรัมย์-เมืองทอง” เกือบ 2.5 เท่าเช่นกัน และเงินก้อนนี้ สามารถจ่ายค่าเหนื่อยของนักเตะของเมืองทองได้ถึง 1 ใน 4 ของฤดูกาล (เมืองทองมีค่าใช้จ่ายในฤดูกาลปัจจุบันอยู่ที่ 94 ล้านบาทต่อปี อ้างอิงจากเว็บ transfermarkt)
ดังนั้น ในมุมของสโมสรฟุตบอล แทนที่จะเหนื่อยหารายได้ก้อนโตระดับนี้ ที่ไม่รู้ต้องแข่งฟุตบอลกี่นัดถึงจะได้มา? หรือเหนื่อยหาสปอนเซอร์อีกกี่เจ้า? เพื่อให้ได้เงิน 25 ล้านบาท พวกเขาสามารถหาเงินได้แบบไม่ต้องเหนื่อย แค่ปล่อยให้ผู้จัดคอนเสิร์ตได้ใช้งานสนามของตัวเอง
ยิ่งหากดูจากเงินรายได้ของสโมสรฟุตบอลไทย ซึ่งทุกวันนี้รายทีมก็เจอปัญหา ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดลดลง จนต้องมา #savethaileague … สปอนเซอร์ที่หดหาย ขณะที่รายได้จากแมทช์การแข่งขัน หรือการขายของที่ระลึก ก็ไม่ได้เยอะพอ จะแบกค่าใช้จ่ายของสโมสร
การรับงานนอก เช่น การจัดคอนเสิร์ตจึงเป็นทางออกที่เลี่ยงไม่ได้ สำหรับสโมสรฟุตบอลไทย หากอยากได้เงินมาหมุนในสโมสรแบบคุ้มค่า และไม่ต้องเหนื่อยมาก
ถึงตอนนี้เราเห็นแล้วว่า การจัดคอนเสิร์ตในสนามฟุตบอลมีประโยชน์กับสโมสร โดยเฉพาะกับทีมฟุตบอลไทย
แต่ทำไมปัญหาของการจัดคอนเสิร์ตในสนามฟุตบอลยังคงมีอยู่? เราจะเฉลยให้ทุกคนรับรู้ในช่วงถัดไป
ปัญหาอยู่ตรงไหน?
แม้ว่าการจัดคอนเสิร์ตในสนามฟุตบอล จะเป็นสิ่งที่ทั่วโลกทำกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การจัดคอนเสิร์ตในสนามฟุตบอลที่ประเทศไทย จะมีมาตรฐานเหมือนกับที่อื่น
ปัญหาแรกที่เห็นได้ชัด เวลามีการจัดคอนเสิร์ตในสนามฟุตบอลที่ไทยคือเรื่องของ “การจัดการ”
ในขณะที่ต่างประเทศมีการวางแผนอย่างดีในการจัดคอนเสิร์ต การดำเนินการจะถูกวางแผนล่วงหน้าหลายเดือน เพื่อให้ฝ่ายจัดการแข่งขันสามารถจัดโปรแกรมที่เหมาะสมกับการใช้งานสนามของทีม
ยกตัวอย่าง ในกรณีของวง TWICE ที่จัดคอนเสิร์ตในสนามฟุตบอลของทีมเจลีก ได้มีการประสานงานในการจัดคอนเสิร์ตตั้งแต่ช่วงปิดฤดูกาล
ดังนั้น เมื่อถึงคิวต้องใช้สนามเพื่อจัดคอนเสิร์ต ทางเจลีกก็แค่เว้นระยะเวลา 1 สัปดาห์ให้ เซเรโซ โอซาก้า และเอฟซี โตเกียว ไปแข่งขันเกมเจลีกในฐานะทีมเยือน และสัปดาห์ถัดมาพวกเขาก็ได้กลับมาเล่นในบ้าน เหมือนการแข่งขันฟุตบอลปกติ จนแฟน ๆ ไม่ได้สนใจว่า “ทีมไม่ได้เล่นในบ้าน เพราะสนามฟุตบอลใช้จัดคอนเสิร์ต” เนื่องจากมันไม่ส่งผลกระทบอะไรกับทีมเลย
หรือในกรณีส่วนใหญ่ ทีมฟุตบอลจะพยายามดีลคอนเสิร์ตในช่วงที่ไม่มีการแข่งขัน เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการสนาม และใช้ประโยชน์ของสนามได้อย่างเต็มที่
ในเรื่องนี้ คงเป็นคำถามกลับไปยังสโมสร และฝ่ายจัดอย่างไทยลีกว่า มีวิธีที่ดีกว่านี้หรือไม่ในการป้องกันปัญหา สามารถที่จะหาวิธีจัดการโปรแกรมต่าง ๆ ได้ดีกว่านี้หรือไม่ เพื่อไม่ให้ทุกฝ่ายได้รับผลกระทบแบบที่ญี่ปุ่นทำได้
เพราะการจัดคอนเสิร์ตคืองานระดับสากล การทำงาน หรือการวางแผนต้องเป็นมืออาชีพในทุกขั้นตอน … ดังนั้นคนทำงานในไทยต้องมาถามตัวเองว่า ระบบการจัดการของวงการฟุตบอลไทยตอนนี้ ด้อยประสิทธิภาพมากแค่ไหน และจะแก้ไขยังไง ไม่ให้แฟนบอลต้องเดือดร้อน
อีกเรื่องคือ “ประเด็นการดูแลสนาม” เพราะที่ญี่ปุ่นได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พวกเขาจัดคอนเสิร์ตในสนามฟุตบอล และสามารถแข่งขันได้ตามปกติในสัปดาห์ถัดมา เพราะมีการดูแลสนามที่ยอดเยี่ยม ไม่เสียหายจากการจัดอีเวนต์ และเมื่อเป็นแบบนี้ แฟนบอลก็ยิ่งไม่มีปัญหา กับการที่สโมสรเอาสนามฟุตบอลไปจัดคอนเสิร์ตในช่วงที่มีการแข่งขัน
ตรงกันข้ามกับประเทศไทย เห็นได้ชัดว่าเราไม่มีวิธีการดูแลรักษาสนามฟุตบอลที่ดีพอ หลายครั้งที่มีการจัดคอนเสิร์ต สภาพสนามฟุตบอลที่ได้กลับมาคือพังยับ ไม่อยู่ในสภาพที่จะเล่นฟุตบอลระดับสูงได้ จนกลายเป็นปัญหาตามมาถึงเรื่องสภาพสนามในการใช้แข่งขัน และถูกแฟนบอลต่อว่า เพราะการจัดคอนเสิร์ตทำให้สนามเสียหาย
แน่นอนว่าการจัดคอนเสิร์ตมอบเงินมหาศาลให้กับทีมฟุตบอล ดังนั้นทีมก็ควรสร้างความพร้อมของสนามให้สมกับรายได้ที่เข้ามา เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น ทั้งการจัดคอนเสิร์ต และการแข่งขันฟุตบอล
สุดท้ายแล้ว ปัญหาของเรื่องนี้คือความไม่พร้อมหลายอย่างของวงการฟุตบอลไทย ทั้งเรื่องการจัดการ และการดูแลสนามให้ได้มาตรฐาน … ปัญหาจึงกลับสู่คำถามเดิม ๆ ว่า “ผู้มีอำนาจในวงการฟุตบอลไทย ยังสนใจแฟนบอลอยู่ไหม?”
เหมือนที่ได้เขียนไป เรื่องเงินคือสิ่งสำคัญ แต่ฟุตบอลในฐานะเครื่องมือทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว คือคำตอบที่ใช้หรือเปล่า?
บางที หากสโมสรฟุตบอลไทย หาทางวางแผนในการจัดคอนเสิร์ตดี ๆ มีการวางแผนล่วงหน้า เพื่อแจ้งกับทางไทยลีก เราคงมีโปรแกรมการแข่งขันที่สมเหตุสมผลมากกว่านี้ ไม่ใช่ให้เมืองทองต้องเล่นเกมเยือน 8 นัด แบบไม่สงสารแฟนบอล
ขณะเดียวกัน หากทุกสโมสรจัดการกับสนามแข่งขันได้ดีกว่านี้ การจัดคอนเสิร์ตก็คงไม่ใช่ปัญหา เพราะแฟนบอลจะไม่เห็นผลกระทบจากมัน … แต่ถ้ายังจัดการกันไม่ได้ ปัญหาแบบนี้ก็จะอยู่ต่อไป และสุดท้ายคนรับกรรมก็คือ “แฟนบอล” เพราะสโมสรนอนนับเงินไปเรียบร้อยแล้ว
ร่วมสมัครเล่นสนุก ชิงรางวัลกับการแข่งขันฟุตบอลไทยได้ที่นี่
นอกจากนี้คุณสามารถ เช็คช่องทางที่ดีที่สุดในการลุ้นโชคได้ที่นี่
ติดตามบทความและข่าวสารกีฬาอื่นๆของเรา The Sporting News
Facebook : https://www.facebook.com/TheSportingNewsTH
Instagram : https://www.instagram.com/thesportingnews_th
Tiktok : https://www.tiktok.com/@thesportingnewsthailand
อ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/Wembley_Stadium#Music
https://en.wikipedia.org/wiki/City_of_Manchester_Stadium#Concerts
https://en.wikipedia.org/wiki/Ready_to_Be_World_Tour
https://en.wikipedia.org/wiki/Born_Pink_World_Tour
https://www.siamsport.co.th/football-thailand/thaileague-1/1282/
https://www.thairath.co.th/scoop/infographic/2707078
https://www.pptvhd36.com/sport/news/194280
https://mgronline.com/sport/detail/9660000077993