ไขข้อสังสัย : ทำไมฟุตบอลโลกหญิงได้รับความนิยมมากในโลกตะวันตก?

Francis Phumin

ไขข้อสังสัย : ทำไมฟุตบอลโลกหญิงได้รับความนิยมมากในโลกตะวันตก? image

ในตอนนี้ฟุตบอลโลกหญิง 2023 ที่ประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ได้เปิดฉากฟาดแข้งกันเป็นที่เรียบร้อย และได้รับความสนใจจากหลายประเทศทั่วโลก

โดยเฉพาะในฝั่งตะวันตกที่ให้ความสำคัญ และความสนใจกับการแข่งขันครั้งนี้เป็นอย่างมาก ต่างจากบ้านเราที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงมากนัก เกี่ยวกับการแข่งขันรายการนี้

แต่ด้วยเหตุผลอะไรที่ทำให้คนตะวันตกนั้นสนใจฟุตบอลโลกหญิง 2023 มากขนาดนี้ ทั้ง ๆ ไม่ใช่การแข่งขันของทีมชาย และมีสตาร์เพียงไม่กี่คนที่เข้าร่วมการแข่งขัน? ร่วมหาสาเหตุไปกับเราได้ที่นี่

ศึกฟุตบอลโลกหญิงก็สนุกและมันส์ไม่แพ้กัน ซึ่งทุกท่านสามารถร่วมสมัครเล่นสนุก ชิงรางวัลกับการแข่งขันฟุตบอลได้ที่นี่

ทำไมฟุตบอลโลกหญิงได้รับความนิยมมากในโลกตะวันตก?

การแข่งขันครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

FIFA Women's World Cup 2023 logo
(Getty Images)

นอกเหนือจากสิ่งอื่นสิ่งใด เหตุผลที่ทำให้ฟุตบอลโลกหญิง 2023 ที่ประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ได้รับความนิยมจากชาติตะวันตกนั้น เป็นเพราะว่าศึกครั้งนี้ ยิ่งใหญ่กว่าหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา

นับตั้งแต่ที่มีการแข่งขันครั้งแรกในปี 1991 ที่ประเทศจีน การแข่งขันครั้งนี้ที่ดินแดนโอเชเนีย นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีทีมเข้าร่วมชิงชัยมากถึง 32 ทีม ซึ่งนับว่าสมัยที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของการแข่งขัน

ซึ่งการเพิ่มทีมในปีนี้ส่งผลให้มี 8 ชาติ ที่จะได้เข้าร่วมฟุตบอลโลกหญิงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติ ไม่ว่าจะเป็น เฮติ, ไอร์แลนด์, โมร็อกโก, ปานามา, ฟิลิปปินส์, โปรตุเกส, เวียดนาม และแซมเบีย ซึ่งเรื่องนี้มันยิ่งทำให้ฟุตบอลโลกหญิง 2023 ได้รับความสนใจและเป็นที่พูดถึงมากขึ้น

และนอกจาก 8 ชาติหน้าใหม่แล้ว ทีมขาประจำหลายทีมก็หวังจะใช้รายการนี้เป็นเวทีต่อยอดความสำเร็จของพวกเธอ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาที่ต้องการเป็นชาติแรกที่คว้าแชมป์โลก 3 สมัยที่ติดต่อกัน หรือจะเป็นเยอรมันที่อยากกลับมาคว้าแชมป์โลกให้ได้อีกครั้งในรอบ 16 ปี รวมไปถึงอังกฤษที่กำลังอยู่ในช่วงติดไฟ ก็ไม่มีครั้งไหนที่จะเหมาะไปกว่าครั้งนี้ในการคว้าแชมป์โลก

ด้วยเหตุผลทั้งหมดมันช่วยหล่อหลอมให้ฟุตบอลโลกหญิง 2023 ขึ้นไปอยู่ในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ หรือหน้าแรกของสำนักข่าวต่างประเทศได้ไม่ยากนัก

พัฒนาความเป็นมนุษย์

Getty Images

ในยุคที่ชายเป็นใหญ่ แน่นอนว่าฟุตบอลเป็นกีฬาของผู้ชาย ที่ได้รับความนิยมและมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่มีการแข่งขันแบบจริงจัง ขณะที่การแข่งขันของผู้หญิงยังคงถูกจำกัดหรือห้ามในหลายประเทศ

แม้แต่ในสหราชอาณาจักรที่ขึ้นชื่อว่า “Home of Football” ก็ยังค่อนข้างแปลกสำหรับผู้หญิงที่เล่นฟุตบอล เพราะโรงเรียนส่วนใหญ่มักจะจำกัดให้เด็กผู้หญิงเล่นกีฬาประเภททีม โดยเฉพาะเน็ตบอลหรือฮอกกี้เสียมากกว่า

นอกจากนี้ในหลายสังคม บทบาทของผู้หญิงถูกจำกัดให้อยู่แต่ในบ้าน พวกเธอจึงไม่มีอิทธิพลในสังคมหรือแม้แต่ในครอบครัวของพวกเธอเอง ซึ่งมันหมายความว่า การเล่นกีฬาก็ถูกตัดออกไปจากชีวิตพวกเธอได้เลย และแน่นอนว่ามันทำให้สุขภาพ รวมถึงทักษะการใช้ชีวิตของพวกเธอลดลงไปด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ทันทีที่ยุคสมัยเริ่มเปลี่ยนไป ผู้หญิงเริ่มมีบทบาทในสังคมมากขึ้น มันจึงทำให้กีฬาฟุตบอล ไม่ได้เป็นแค่ของผู้ชายอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้หญิงเข้าถึงฟุตบอลได้แบบไม่ยากนัก และหลังจากนั้นมาการแข่งขันของฟุตบอลหญิงก็เริ่มได้รับการพูดถึงมากขึ้นตามลำดับ

ในปี 2007 งานวิจัยที่จัดทำโดยยูฟ่า ได้ระบุว่า “เด็กสาววัยรุ่นที่เล่นฟุตบอล มีระดับความมั่นใจในตนเองสูงกว่าผู้ที่เล่นกีฬาประเภทอื่น” และด้วยผลวิจัยดังกล่าว ทำให้ยูฟ่ามุ่งมั่นที่จะทำให้ฟุตบอลเป็นกีฬาอันดับหนึ่งสำหรับเด็กผู้หญิงในทวีปยุโรป

ซึ่งจากผลวิจัยมันยิ่งสะท้อนให้เห็นว่ากีฬาฟุตบอลเป็นรากฐานสำคัญไม่เพียงแต่การเล่นเป็นอาชีพเพื่อเลี้ยงปากท้องเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพัฒนาความเป็นมนุษย์ให้ดีขึ้นอีกด้วย

ความเท่าเทียมทางเพศ

France Squad Women's World Cup
(Getty Images)

แม้ว่าโลกนี้ ผู้หญิง จะมีอิทธิพลและบริบททางสังคมเทียบเท่าผู้ชาย แต่มันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในกีฬาฟุตบอล การแข่งขันของผู้ชายยังคงได้รับการพูดถึงมากกว่า และมีมูลค่าการตลาดที่สูงกว่าในทุกวันนี้ ต่อให้ฟุตบอลหญิงจะเติบโตมากแค่ไหน ก็ยังคงตามหลังฟุตบอลชายอยู่หลายเท่าตัว

เรื่องดังกล่าวจึงทำให้ หลาย ๆ ประเทศต่างเริ่มรณรงค์ในการแสดงให้เห็นว่าฟุตบอลหญิงนั้นก็สำคัญไม่แพ้ฟุตบอลชาย ไม่ว่าจะเป็นทีมฟุตบอลหญิงเยอรมันที่มีแคมแปญว่า “We don't have balls, but we know how to use them” หรือที่แปลเป็นไทยได้ว่า "ถึงพวกเราแม้จะไม่มี ไ* แต่เราก็รู้วิธีใช้มัน"

หรือจะเป็นทีมชาติอังกฤษที่ให้เจ้าชายวิลเลียม, เดวิด เบ็คแฮม และเอมมา วัตสัน เป็นคนประกาศรายชื่อนักฟุตบอลหญิงชุดลุยฟุตบอลโลกปี 2019 ผ่านทางโซเชียลมีเดียส่วนตัว เพื่อเป็นการแสดงออกว่าพวกเธอคือคนสำคัญและเป็นความภาคภูมิใจของชาติ

นอกจากนี้ในปัจจุบันแบรนด์กีฬาต่าง ๆ ก็ผลิตชุดแข่งขันของทีมฟุตบอลหญิงให้แตกต่างออกไปจากทีมผู้ชาย เพื่อเป็นบ่งบอกว่าพวกเธอไม่ได้สำคัญน้อยไปกว่าทีมชายเลยแม้แต่น้อย

และไม่เว้นแต่ ฟรองซ์ ฟุตบอล นิตยสารชื่อดังของฝรั่งเศส ก็ได้เพิ่มรางวัลบัลลงดอร์ของผู้หญิงเป็นครั้งแรกในปี 2018

ด้วยการรณรงค์ต่าง ๆ และความใส่ใจในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศของคนฝั่งตะวันตก มันยิ่งทำให้วงการฟุตบอลหญิงเริ่มเติบโตในทุก ๆ ปี และเชื่อว่าในอีกไม่ช้าการแข่งขันฟุตบอลของกุลสตรีจะขึ้นไปเคียงข้างกับฟุตบอลชายในอนาคต

และด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่แปลกใจเลยสักนิดที่ทำให้ชาติตะวันตก ตื่นเต้นและสนใจกับการแข่งครั้งนี้เป็นอย่างมาก เพราะนอกเหนือจากจะเป็นหนึ่งในการแข่งขันรายการที่ใหญ่ที่สุดแล้ว มันยังเป็นเวทีที่สะท้อนถึงความสามารถของกุลสตรีในปัจจุบันอีกด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง : เปิดทำเนียบแชมป์ฟุตบอลโลกหญิง : ชาติไหนคว้าแชมป์มากที่สุด? 

บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 นักฟุตบอลหญิงที่มีค่าพลังสูงสุดในเกม FIFA 23

Francis Phumin

Francis Phumin Photo

นักเขียน The Sporting News Thailand ผู้ที่หลงไหลในเสน่ห์ของฟุตบอล