ถอดบทเรียน : เยาวชนไทยเมื่อ 12 ปีก่อน พลิกล็อคชนะเกาหลีใต้ได้อย่างไร

Songsak Srisuk

ถอดบทเรียน : เยาวชนไทยเมื่อ 12 ปีก่อน พลิกล็อคชนะเกาหลีใต้ได้อย่างไร image

ไม่มีข้อแก้ตัวใด ๆ สำหรับทีมชาติไทย U-17 ที่แพ้คาบ้านให้เกาหลีใต้ 1-4 ในศึกชิงแชมป์เอเชีย แม้จะเจ็บใจที่พลาดคว้าตั๋วไปฟุตบอลโลกแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราสู้สุดกำลังแล้ว

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าโลกนี้จะสร้างให้เราเกิดมาเพื่อแพ้ ญี่ปุ่น, เกาหลี, อิหร่าน, ออสเตรเลีย ตลอดกาลชั่วกัลป์ เพราะครั้งหนึ่งในอดีตเมื่อ 12 ปีก่อนเยาวชนทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 19 ของเราก็เคยพลิกล็อคโค่นเกาหลีใต้มาแล้ว ด้วยฝีมือของกุนซือปากแซ่บอย่าง "น้าฉ่วย" สมชาย ชวยบุญชุม 

เรื่องราวเสมือนบทละครในอดีตเป็นเช่นไร ทำไม 12 ปีที่แล้วฟุตบอลเด็กเราชนะเกาหลีได้ แต่วันนี้เยาวชนไทยกลับแพ้แบบไร้หนทาง ติดตามได้ที่บทความของเรา...

เส้นทางแห่งขงเบ้ง

เริ่มจากปัจจัยของนักเตะ "น้าฉ่วย" หลังจากได้รับตำแหน่งกุนซือในช่วงกลางปี 2011 ก็ได้รับเป้าหมายจากสมาคมฟุตบอล 2 ข้อซึ่งประกอบไปด้วยข้อแรกต้องพาทีมเป็นแชมป์ U-19 อาเซียน ที่จะแข่งในเดือนกันยายน และข้อสองต้องพาทีมลงเตะรอบคัดเลือกชิงแชมป์เอเชียในเดือนตุลาคม ซึ่งเป้าหมายก็คือผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายให้ได้ 

จากนั้น "น้าฉ่วย" ก็ออกเดินทางไปสรรหาด้วยตัวเองจากสโมสรรวมถึงอะคาเดมี่ต่าง ๆ ที่ตรงตามกับสไตล์ฟุตบอลที่เขาต้องการทำนั่นคือเน้นตั้งรับแล้วโต้กลับ ซึ่งก็ได้นักเตะอย่าง วัชระ บัวทอง, นฤบดินทร์ วีรวัฒโนดม, พีรพัฒน์ โน้ตชัยยา, อดิศร พรหมรักษ์, ธนบูรณ์ เกษารัตน์, ชนาธิป สรงกระสินธิ์ และ นิติพงษ์ เสลานนท์ เป็นต้น

ซึ่งครั้งหนึ่ง "น้าฉ่วย" เคยกล่าวถึงการเข้ามาคุมทีมชาติไทยชุด U-19 ไว้ได้น่าสนใจมาก ว่า "ถ้าจะพัฒนาเยาวชนทีมชาติ ต้องเลือกโค้ชคนไทย ต่างชาติไม่เหมาะเพราะขาดความสามารถเรื่องของการสื่อสารเชิงลึก"

เวทีแรกของ "น้าฉ่วย" กับแข้ง U-19 ในศึกชิงแชมป์อาเซียนก็ไม่มีอะไรพลิกโผด้วยการคว้าแชมป์มาครองหลังชนะจุดโทษเวียดนามในนัดชิงชนะเลิศ ก่อนจะเตรียมทีมสู้ศึกรอบคัดเลือกชิงแชมป์เอเชียต่อมาโดยใช้นักเตะแกนเดิม ที่ดันจับสลากมาเจอของแข็งทั้ง เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน และ กวม แน่นอนว่าเป้าหมายก็คือต้องผ่านเข้ารอบให้ได้สถานเดียวแม้เจอกระดูกชิ้นโตก็ตาม

เดินตามรอย

ตัดภาพมาที่ปัจจุบันในชุด U-17 ของกุนซือ พิภพ อ่อนโม้ ก็มีเส้นทางไม่ต่างอะไรกับ U-19 ของน้าฉ่วยมากนักโดย พิภพ ได้เปรียบตรงที่เขาสามารถหยิบเลือกนักเตะจากชุด "บลูล็อค" ของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กับอะคาเดมี่ของชลบุรี มาใช้ได้แทบทั้งทีมเลยก็ว่าได้ แต่สุดท้ายแล้วการเลือกนักเตะก็ขึ้นอยู่กับแผนการทำทีมของโค้ชว่าสไตล์ฟุตบอลจะออกมาในรูปแบบใด

สไตล์ฟุตบอลของ "โค้ชกบ" เน้นเกมรุกที่สนุก ดุดัน ใช้ความสามารถของนักเตะสูง ซึ่งสวนทางกับแทคติกของ "น้าฉ่วย" ที่เน้นตั้งรับแล้วสวนกลับ

อย่างไรก็ตาม ทัวร์นาเมนต์ระดับนานาชาติครั้งแรกของเขาในศึกชิงแชมป์อาเซียนเยาวชนอายุไม่เกิน 16 ปี เมื่อปี 2022 กลับไม่ประสบความสำเร็จด้วยการคว้าอันดับ 3 เท่านั้น หลังแพ้เวียดนามในรอบรองชนะเลิศ ก่อนไปเอาชนะจุดโทษพม่าได้ในรอบชิงที่ 3

ต่อมา พิภพ ได้ยึดนักเตะชุดนี้เพื่อปั้นไปสู่การแข่งขันชิงแชมป์เอเชียรอบคัดเลือกที่ประเทศเวียดนาม ในช่วงปลายปี 2022 นำทีมโดย ต้นตะวัน ปุนทะมุณี, พัชรพล เหล็กกุล และ ศรัณยวัตร์ น้าประเสริฐ เป็นต้น แต่ทว่านัดสุดท้ายกลับแพ้เจ้าภาพเวียดนาม 0-3 แต่ก็ยังผ่านเข้ารอบสุดท้ายด้วยการเป็นทีมอันดับ 2 ที่ดีที่สุดลำดับที่ 5 จาก 6 ทีม

ร่วมให้กำลังใจทีมชาติไทยด้วยเล่นเกมฟุตบอลประจำวันที่นี่

แตกต่างแต่เหมือนกัน

หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 12 ปีที่แล้วกับการตั้งคำถามว่าทำไม "น้าฉ่วย" ถึงพาไทย U-19 ชนะเกาหลีได้ แต่ พิภพ กลับพาไทย U-17 แพ้เกาหลีแบบสู้ไม่ได้ เราขอแบ่งปัจจัยต่าง ๆ ย่อยออกเป็นข้อเพื่อง่ายต่อความเข้าใจ

ข้อแรก ในเรื่องของความสำคัญ U-19 ของน้าฉ่วย เป็นการลงเตะในทัวร์นาเมนต์คัดเลือกไปชิงแชมป์เอเชีย แถมยังเจอเกาหลีในนัดเปิดสนามซึ่งความกดดันหรือเงื่อนไขต่าง ๆ ไม่ได้เจาะจงมาก ขณะที่นักเตะ U-17 ของ พิภพ ต้องลงแข้งพร้อมกับคำว่า "ฟุตบอลโลก" แบกอยู่บนบ่า ซึ่งแค่นี้ก็มองออกแล้วว่า U-17 ของ พิภพ กดดันและเครียดกว่าอย่างชัดเจน

ข้อสอง ปัจจัยเรื่องของสภาพแวดล้อมในสนาม เราปฏิเสธไม่ได้ว่าแฟนบอลที่เข้ามาชมเจ้าหนู U-17 ในสนามปทุมธานี สเตเดียม นั้นหนาตาพอสมควรถึง 5,000 คน แต่หากตัดไปที่ U-19 ในวันชนะเกาหลี เกมดังกล่าวเล่นที่สนามเทพหัสดิน ย่านปทุมวัน ซึ่งเป็นสนามที่ขนาดเล็กกว่ามากแถมยังเปิดให้แฟนบอลเข้าชมฟรีจนเต็มความจุ 6,300 ที่นั่ง อีกทั้งยังมีแฟนบอลอาศัยยืนชมจากบนสถานี BTS ที่อยู่เหนือสนามอีกกลุ่มหนึ่ง บอกได้เลยว่า ถึงสนามจะเล็กกว่าแต่บรรยากาศอึมครึมสุด ๆ 

ข้อสาม การยกเอาทีม U-19 มาเทียบกับ U-17 อาจดูไม่สมเหตุสมผล แต่ทว่าการเจอกับทีมหัวแถวของทวีปนั้น ไทยเป็นรองทุกชุดดังเช่นครั้งหนึ่งในกรณีที่ทีมชาติไทยชุดใหญ่ เคยโดนเกาหลีใต้ U-23 แบกอายุมาตบถึงบ้านด้วยสกอร์ 3-1 ในศึก "คิงส์ คัพ 2012" หรืออีกครั้งใน "คิงส์ คัพ 2015" ที่ "ช้างศึก" ชุดใหญ่โดน อุซเบกิสถาน U-23 ถล่มยิงคาโคราช 5-2 นั่นแสดงให้เห็นว่าต่อให้อายุน้อยแต่ถ้าคุณภาพสูงกว่าก็สามารถเอาชนะไทยได้ง่าย ๆ

ข้อสี่ คู่แข่งที่เจอนั้นต่างกันไปเนื่องจากทีมเกาหลี U-19 ที่แพ้ไทยเมื่อ 12 ปีก่อนเป็นนักเตะระดับมหาวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยมปลายแทบจะทั้งทีมโดยมีผู้เล่นจากสโมสรติดมาแค่ 5 คนเท่านั้น ขณะที่ทีม U-17 ที่เราเจอกันเมื่อวานปรากฏว่ามีนักเตะจากยูธลีกสโมสรอาชีพของเกาหลีถึง 19 คน ที่เหลืออีก 4 คนมาจากโรงเรียนมัธยมปลาย และที่น่าช้ำใจคือ คิม ฮยอนมิน ผู้ยิงประตูฝัง 4-1 มาจากโรงเรียนเทคนิคสายอาชีวะที่ไม่เกี่ยวข้องกับสโมสรฟุตบอลโดยตรง

ข้อห้า รูปเกมที่ยากจะคาดเดา ตามที่กล่าวไปข้างต้นแทคติกเด็ดของ "น้าฉ่วย" ที่ไม่ว่าจะคุมทีมใดก็จะเน้นตั้งรับแล้วโต้กลับเอาไว้ก่อน ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมาคุมทีมชาติ U-19 ก็ใช้แผนเดิมโดยหลังจากที่ ฐิติพันธ์ ยิงประตูขึ้นนำ 1-0 นาทีที่ 57 เราก็ลงไปตั้งรับทั้งทีมจนเอาชนะเกาหลีได้ในที่สุด ทว่า U-17 เมื่อวานนี้เราเสียประตูตั้งแต่นาทีที่ 3 จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเปิดเกมรุกใส่อีกทั้งเรารักษาสกอร์ 1-1 ในครึ่งแรกได้แค่ 17 นาทีเท่านั้นแล้วก็วนลูปกลับมาเปิดหน้าแลกจนโดนยิงถล่มทลาย  

ข้อหก มวยคนละเวท หากเกมเมื่อวานนี้เปลี่ยนเป็นกีฬาชกมวย คงเปรียบเสมือนนักชกรุ่นเฮฟวี่เวทมาเจอกับฟลายเวท เพียงแค่คู่กองหลังก็ต่างกันชัดเจนเพราะฝั่งเกาหลีที่มี คัง มินวู และ โค จองฮยอน ก็ปาเข้าไป 185 และ 192 เซนติเมตรตามลำดับแล้ว ขณะที่ผู้เล่นไทยส่วนสูงที่สุดอย่าง พงศกร สังคโสภา และ จีระพงศ์ แช่มสกุล ก็สูงเท่ากันที่ 181 เซนติเมตรเท่านั้น แถมท้ายเกมแม้นักเตะทั้งสองทีมจะแรงเริ่มหมดแต่ทว่าฝั่งเกาหลียังสามารถเบียดนักเตะไทยล้มได้สบาย ๆ

ท้ายที่สุด หากมองลึกลงไปเราอาจแก้ต่างได้ว่าวันนั้นเมื่อ 12 ปีก่อนที่เราชนะเกาหลีได้เพราะนักเตะเราคุณภาพดีกว่า แต่อย่างไรก็ตาม จากปี 2011 จนถึงปัจจุบัน 2023 เราพบว่าฟุตบอลเกาหลีใต้ไม่เคยหยุดพัฒนาและจะมีแต่พัฒนาไปไกลกว่าเดิมเพราะจากวันที่แพ้เราเขาส่งนักเตะสมัครเล่นมาค่อนทีมแต่วันนี้แค่เด็กเยาวชน 17 ปี ของเขากลับได้เล่นลีกเยาวชนอย่างจริงจัง ตัดมาที่วงการฟุตบอลไทยการสร้างลีกเยาวชนหรือยูธลีกยังเป็นอะไรที่หวังล้ม ๆ แล้ง ๆ อยู่

หากจะโทษแค่โครงสร้างเยาวชนคงเป็นแค่ปลายเหตุ เพราะถ้าจะเริ่มจริงต้องเริ่มจากตัวนักเตะเองที่ต้องมีระเบียบวินัยทั้งการพักผ่อน การออกกำลังกาย และสำคัญสุดคือโภชนาการที่ต้องเคร่งครัดตั้งแต่เยาวชนซึ่งจะต่อยอดในเรื่องสมรรถภาพ ความฟิต เมื่อก้าวขึ้นไปสู่ชุดใหญ่ แต่เรื่องตลกร้ายก็คือสโมสรในไทยลีกที่หมดเงินมหาศาลเพื่อมาลงทุนกับเยาวชนกลับยังไม่ได้ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดครบ เรียกได้ว่าแค่จะบริหารทีมชุดใหญ่ก็ลำบากแล้ว

แต่ไม่ว่าเราจะหยิบยกบทเรียนในอดีตเพื่อมาเรียนรู้ในปัจจุบันมากแค่ไหน ถ้าพัฒนาการยังวนอยู่กับที่ สุดท้ายการอยากเอาชนะ ญี่ปุ่น เกาหลื อิรัก อิหร่าน ซาอุฯ อุซเบฯ ออสเตรเลีย และ ยูเออี คงต้องหลับตาแล้วจินตนาการหลอกตัวเอง....

NBA LEAGUE PASS สมัครเพื่อชมการแข่งขันเอ็นบีเอสดทุกนัดคลิก

Songsak Srisuk

Songsak Srisuk Photo

นักเขียน The Sporting News Thailand ที่อยากถามว่าคุณฟังวงอะไร? ผมฟังวง "ไปส่งกู บขส. ดู๊