คิดกันให้ปวดหัว : ทำไมคำว่า “แผนการเล่น” ของฟุตบอลสมัยนี้จึงซับซ้อนกว่าเดิมหลายเท่า?

Kim Junumporn

คิดกันให้ปวดหัว : ทำไมคำว่า “แผนการเล่น” ของฟุตบอลสมัยนี้จึงซับซ้อนกว่าเดิมหลายเท่า? image

ย้อนกลับไปเมื่อปลายปีที่แล้ว มิเกล อาร์เตต้า เฮดโค้ชคนเก่งของอาร์เซนอล เคยให้สัมภาษณ์กับนักข่าว เมื่อถูกถามถึงแผนการเล่นที่เขาจะใช้ก่อนเกมชนะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 3-1 ในพรีเมียร์ลีก เอาไว้ว่าเขาต้องใช้ถึงมากกว่า 30 แผนการเล่นในการลงสนามแต่ละนัด

“เราพูดถึงแผนการเล่นในมุมมองที่แตกต่างกัน” กุนซือชาวสเปนของทีมปืนใหญ่กล่าว “วันก่อนที่เจอฟูแลม เราใช้ 36 แผนการเล่นที่แตกต่างกันในเกมนั้น เกมที่เจอแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เราใช้ 43 แผน 

“ผมไม่รู้ว่าเรากำลังพูดถึงแผนการเล่นอะไรกันอยู่ สำหรับผม มันเป็นสิ่งที่แตกต่างกันมากจากสิ่งที่พวกคุณมอง ทุกเกมมันเป็นคนละเรื่องกันเลย”

สำหรับแฟนบอลที่คุ้นชินกับคำว่า “แผนการเล่น” ในความหมายถึงระบบแบบ 4-4-2, 4-3-3 หรือ 4-2-3-1 อาจจะรู้สึกประหลาดใจกับคำตอบเหนือคาดของอาร์เตต้า แต่เมื่อดูจากระบบการเล่นของหลายๆ ทีมชั้นนำในยุคปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าฟุตบอลในยุคปัจจุบันมันกลายเป็นแบบนั้นจริงๆ ภาพการขยับเซ็นเตอรฮาล์ฟขึ้นไปยืนเป็นกองกลาง หรือฟูลแบ็คที่วิ่งเข้าไปทำประตูบริเวณกรอบเขตโทษเป็นสิ่งที่เราพบเห็นได้อยู่ทั่วไปในการถ่ายทอดสดแต่ละสัปดาห์ทุกวันนี้

แล้วทำไมมันจึงเป็นเช่นนั้น ติดตามได้ที่นี่

จุดเริ่มต้นจาก เป๊ป กวาร์ดิโอลา?

นับตั้งแต่ยุค 2010s เป็นต้นมา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เป๊ป กวาร์ดิโอลา คือโค้ชที่ผู้อยู่ในแวดวงฟุตบอลแทบทุกคนยอมรับว่าเก่งที่สุดในโลก ความสำเร็จของเขาไล่ตั้งแต่บาร์เซโลนา, บาเยิร์น มิวนิค มาจนถึงแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในปัจจุบัน คือพิมพ์เขียวที่กุนซือลูกหนังหลายคนพยายามเดินตามรอย ไอเดียที่เคยแปลกใหม่ในตอนแรกๆ ที่เป๊ปนำมาใช้ ก็ถูกลอกเลียนแบบจนแทบจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในฟุตบอลยุคปัจจุบัน

จริงอยู่ เป๊ปไม่ใช่สุดยอดอัจฉริยะที่คิดค้นทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง เขามีอาจารย์ในเชิงลูกหนังมากมายที่เขาได้เรียนรู้และนำมาปรับใช้ให้เข้ากับแนวทางของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นโยฮัน ครัฟฟ์ ฆวนมา ลิโย หรือมาร์เซโล บิเอลซา แต่กวาร์ดิโอลาคือคนที่ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมที่สุด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใดที่ไอเดียของปรมาจารย์ลูกหนังเหล่านั้น จะมาผลิดอกออกผลในทุกวันนี้

ร่วมสนุกทายผลฟุตบอลประจำวัน ที่นี่

เช็คช่องทางที่ดีที่สุดในการลุ้นโชคได้ที่นี่

ความสำเร็จของเป๊ป ทำให้ฟุตบอลทุกวันนี้เรียกร้องการใช้เท้าได้ดีจากผู้รักษาประตู, ทำให้ทีมจะประสบความสำเร็จในระดับสูงต้องมีเปอร์เซ็นต์การครองบอลเฉลี่ยอยู่ที่ราวๆ 60% ขึ้นไป รวมไปถึงการขยับฟูลแบ็คเข้ามายืนกองกลางหรือที่หลายคนเรียกกันว่าอินเวิร์ต ฟูลแบ็ค (inverted full-back)

และสิ่งที่ทำให้แผนการเล่นที่มีพิมพ์เขียวมาจากเป๊ป กวาร์ดิโอลา ต้องมีความซับซ้อนวุ่นวายขนาดนั้น มาจากไอเดียหลักแค่คำเดียว นั่นคือ Positional play

คีย์เวิร์คคือ Positional play

สิ่งที่เรียกว่า Positional play หรือ juego de posición นั้นมีอยู่ในวงการฟุตบอลมาตั้งแต่ยุค 1970s นับตั้งแต่ตอนที่ไรนุส มิเชล คุมทีมอาแย็กซ์และทีมชาติเนเธอร์แลนด์ โดยไอเดียหลักสำคัญที่สุดของมันคือการพยายามทำให้ทีมของตัวเองได้เปรียบทางด้านจำนวนเหนือคู่แข่งในพื้นที่นั้นๆ

ทีมที่จะใช้ Positional play จะต้องทำตามกฎที่ผู้จัดการทีมเซ็ตขึ้นมาอย่างเคร่งครัด และฝึกซ้อมซ้ำไปซ้ำมาในสนามซ้อมจนชำนาญ เพื่อขยับตำแหน่งไปตามสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้ฝั่งตัวเองได้เปรียบอยู่เสมอ ซึ่งตรงจุดนี้เองที่ทำให้สิ่งที่เรียกว่าแผนการเล่นในแบบที่เราคุ้นเคยในอดีต มันไม่ได้เป็นเหมือนที่เคยเป็นอีกต่อไปแล้ว

เราจึงได้เห็นทีมที่จัดผู้เล่นตัวจริงด้วยแผน 4-3-3 แต่ในระหว่างการแข่งขัน กลับตั้งเกมขึ้นมาด้วยกองหลังแค่ 3 คน ขณะที่นักเตะอีกคน ซึ่งอาจจะเริ่มต้นด้วยการยืนเป็นฟูลแบ็ค ขยับเข้าไปเป็นกองกลาง หรืออาจจะได้เห็นกองกลางตัวรับ ที่ถอยไปตั้งเกมร่วมกับเซ็นเตอร์ฮาล์ฟ แต่ดันแบ็คทั้งสองฝั่งขึ้นไปยืนสูงไม่แตกต่างจากปีก

ทั้งหมดคือการปรับใช้ผู้เล่นให้เหมาะสมสำหรับแต่ละสถานการณ์ และจะแปรเปลี่ยนไปตามรูปแบบแท็กติกของคู่แข่ง เพื่อสร้างความสับสนและกุมความได้เปรียบเวลาแข่งขันนั่นเอง

Positional play คืออนาคตของวงการลูกหนัง?

หากเรามองดูบรรดากุนซือยุคใหม่ที่ได้รับการยกย่องและประสบความสำเร็จในฤดูกาลนี้ ไม่ว่าจะเป็น เป๊ป กวาร์ดิโอลา, มิเกล อาร์เตต้า, อังเก้ ปอสเตโปกลู หรือแม้กระทั่ง ชาบี อลอนโซ ของไบเออร์ เลเวอร์คูเซน ทุกคนที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่มีไอเดียเรื่อง Positional play อยู่ในแผนการเล่นด้วยกันทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดี การเล่นแบบ Positional play นั้นเรียกร้องคุณภาพจากนักเตะค่อนข้างมาก พวกเขาต้องมีความเข้าใจในเกมสูง รู้ว่าในแต่ละสถานการณ์จะต้องทำอย่างไรให้เหมาะสม รวมถึงต้องมีทักษะในการเอาตัวรอดและจ่ายบอลไปหาตำแหน่งที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว

พูดง่ายๆ คือ นักเตะทุกคนในสนามจะต้องเข้าใจแท็กติกได้เป็นอย่างดี และยังต้องมีทักษะเพียงพอที่จะนำไปปฏิบัติได้จริงในเกมอีกด้วย

นั่นจึงทำให้ถึงแม้ Positional play จะเป็นแนวคิดที่หลายทีมชั้นนำเอาไปปรับใช้และนำไปปฏิบัติจริงในสนามจนประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย แต่ก็ยังมีสโมสรและโค้ชอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังคงยึดมั่นกับแผนการเล่นในรูปแบบเดิม โดยเฉพาะกับทีมในระดับล่างๆ ของตารางคะแนน เพราะพวกเขาไม่มีทรัพยากรที่เพียงพอจะใช้รูปแบบการเล่นที่ซับซ้อนขนาดนั้นนั่นเอง

ร่วมสนุกทายผลฟุตบอลประจำวัน ที่นี่

เช็คช่องทางที่ดีที่สุดในการลุ้นโชคได้ที่นี่

ติดตามบทความและข่าวสารกีฬาอื่นๆของเรา

Facebook : https://www.facebook.com/TheSportingNewsTH
Instagram : https://www.instagram.com/thesportingnews_th
Tiktok : https://www.tiktok.com/@thesportingnewsthailand

Kim Junumporn

Kim Junumporn Photo

นักเขียน The Sporting News Thailand