จา มอแรนท์ : การ์ดสไตล์ครบเครื่องที่ทำให้แฟนบาส NBA อดคิดถึง เดอร์ริก โรส ไม่ได้

Nawapon Kiatpisan

จา มอแรนท์ : การ์ดสไตล์ครบเครื่องที่ทำให้แฟนบาส NBA อดคิดถึง เดอร์ริก โรส ไม่ได้ image

คงไม่ใช่แค่ จา มอแรนท์ การ์ดซูเปอร์สตาร์ของทีมเมมฟิส กริซลีส์ แห่งศึกบาสเกตบอล NBA ที่รู้สึกว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจจาก เดอร์ริก โรส แต่รูปแบบการเล่น คุณภาพจากความสามารถ พรสวรรค์ทั้งในฐานะนักบาสและการสร้างความตื่นตาตื่นใจของนักบาสทั้งสองก็ไม่ได้แตกต่างกันในมุมมองของแฟนกีฬายัดห่วงอีกด้วย

Ja Morant
(Getty Images)

การ์ดบ้าพลัง แห่งวงการ NBA

ยุคสมัยของตำแหน่งการ์ดเบ่งบานภายใต้ผู้เล่นชั้นนำมากมาย สเตฟเฟ่น เคอร์รี่ คือการ์ดที่ชู้ตได้แม่นยำที่สุดในโลก, ไครี เออร์วิง มาพร้อมกับความสามารถในการครอสโอเวอร์ที่พร้อมทำให้ข้อเท้าตัวป้องกันหักได้ทุกเมื่อ, ส่วน คริส พอล ยังคงรักษารูปแบบการ์ดสมัยดั้งเดิมเอาไว้ เช่นเดียวกับ จาเลน บรันสัน ที่ลงสนามด้วยความเป็นโอลด์สคูลการ์ด ให้กับนิกส์

แต่การ์ดอีกสไตล์ที่จัดจ้าน และ มักเป็นที่นิยมของหมู่ผู้ชมสายไฮไลท์ คือ การ์ดบ้าพลัง

รูปแบบการเล่นที่ต้องอาศัยทั้งความสามารถเฉพาะตัว ร่างกายที่แข็งแกร่งกว่าผู้เล่นในตำแหน่งเดียวกัน แต่มีความยืดหยุ่น คล่องแคล่ว และสิ่งสำคัญที่สุดคือความดุดันในทุกจังหวะการเล่น

ฤดูกาล 2022-23 ถ้าหากให้เอ่ยชื่อของการ์ดสไตล์นี้ คงหนีไม่พ้น จา มอแรนท์ ยอดการ์ดฝีมือดีของทีม กริซลีส์ ที่มีครบทุกองค์ประกอบ และยังก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทีมตั้งแต่อายุยังน้อย ด้วยวัยเพียง 23 ปี เท่านั้น

ก่อนหน้าจะถึง มอแรนท์ เราจะเคยวิธีการเล่นสไตล์ใกล้เคียงจาก รัสเซลล์ เวสต์บรูค ยุคไล่ล่าสถิติ, ดีเวย์น เหว็ด สมัยพีค ๆ เช่นเดียวกับ จอห์น วอลล์ ที่เล่นได้อย่างผาดโผนช่วงรุ่ง ๆ กับ วอชิงตัน วิซาร์ดส์ แต่อีกคนที่ขาดไปไม่ได้เลยคือ เดอร์ริก โรส เจ้าของตำแหน่งผู้เล่นทรงคุณค่าอายุน้อยสุดของ NBA

gettyimage

โชคชะตาผู้นำวัยละอ่อนของ มอแรนท์ และ ดีโรส

นอกจากความคล้ายคลึงกันจากสไตล์และวิธีการเล่น รวมถึงออร่าของความเป็นซูเปอร์สตาร์ เมื่อได้ชมเกมผ่านการถ่ายทอดสดหรือไฮไลท์การแข่งขันแล้ว สิ่งที่การ์ดทั้งสองมีร่วมกันอีกอย่างคือการแบกรับแรงกดดันจากทีมต้นสังกัด

แม้จะถูกดราฟท์เข้าสู่ทีมในอันดับที่ต่างกัน แต่อันดับ 1 ของ โรส ในปี 2008 และ อันดับ 2 ของ มอแรนท์ ในปี 2019 ก็ถือเป็นระดับผู้เล่นที่ทีมโยนความคาดหวังลงไปสูงไม่ต่างกันมากนัก

สภาพทีมก่อนที่ทั้งสองจะได้ประเดิมเกม NBA ก็ไม่ต่างกัน พวกเขากำลังอยู่ในช่วงลองผิดลองถูกกับการสร้างทีม และบังเอิญจริง ๆ ที่ 1 ปีก่อนการดราฟท์ผู้เล่นทั้งสอง บูลส์ (ปี 2007-08) และ กริซลีส์ (2018-19) ดันจบซีซั่นด้วยสถิติ ชนะ 33 แพ้ 49 เกม และต่างวืดรอบเพลย์ออฟเหมือนกันอีกต่างหาก

ที่สำคัญปีรุกกี้ของทั้งสอง ดันมีผลงานการเล่นที่พอ ๆ กัน จนต่างคว้ารางวัลรุกกี้แห่งปี เหมือนกันด้วย

โรส :  37.0 นาที  16.8 แต้ม 3.9 รีบาวด์ 6.3 แอสซิสต์ 0.8 สตีล 0.2 บล็อค

มอแรนท์ : 31.0 นาที  17.8 แต้ม 3.9 รีบาวด์ 7.3 แอสซิสต์ 0.9 สตีล 0.3 บล็อค

ความแตกต่างเพียงเล็กน้อยคือ บูลส์ ทะลุเข้ารอบเพลย์ออฟสำเร็จตั้งแต่ปีแรกที่ ดีโรส ลงเล่น ขณะที่ จา ต้องรอถึง 2 ปี หากแต่เรามองภาพใหญ่ พวกเขาถือเป็นตัวยกระดับทีมได้แบบทันทีทันใดเหมือนกันทั้งคู่

โรส ใช้เวลา 3 ฤดูกาล พาทีมไปสู่จุดสูงสุดในช่วงเวลานั้นด้วยการเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศสายตะวันออก

Derrick Rose

และตัวเขาคว้ารางวัลผู้เล่นทรงคุณค่าในฤดูกาลปกติ ด้วยอายุเพียง 22 ปี เท่านั้น

ส่วน มอแรนท์ ค่อย ๆ เติบโตกับทีมหมี ในซีซั่นที่ 3 ทีมสามารถโชว์ศักยภาพผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศชิงแชมป์สายตะวันตกได้ ก่อนจะแพ้ โกลเด้นสเตท วอร์ริเออร์ส ทีมแชมป์ในปีนั้นด้วยทรงการเล่นที่น่าประทับใจอย่างมาก

แม้ว่าในช่วงอายุเดียวกัน มอแรนท์ จะไม่สามารถคว้า MVP ได้ทันเท่ากับ ดีโรส แต่ฤดูกาล 2022-23 เขากำลังผลิบานเหลือเกิน และหากทีมยังเล่นกันได้อย่างยอดเยี่ยม ก็อาจถึงเวลาของเขาในวัย 23 ปี

โรส อาจจะสิ้นสุดเส้นทางผู้นำของทีม บูลส์ ในปี 2016 (อาจจะก่อนหน้าด้วย เพราะการก้าวขึ้นมาของ จิมมี่ บัตเลอร์) หลังย้ายไปร่วมทีม นิวยอร์ก นิกส์ แน่นอนว่าเรื่องปัญหาบาดเจ็บรุนแรงก็มีส่วนอย่างมาก

Derrick Rose

แต่ความยอดเยี่ยมที่เขาฝากผลงานตราตรึงใจเอาไว้กับทีมในช่วง 8 ปี ได้สร้างพลังบวกกับการ์ดรุ่นหลัง ๆ โดยเฉพาะ กับ มอแรนท์ ซึ่งกำลังรับบทบาทผู้ขับเคลื่อนทีม กริซลีส์ ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างสุดพลัง

ดีโรส คนเดิมไม่มีอีกแล้ว ส่วน มอแรนท์ ยังเหลือช่วงเวลาที่คาดเดาไม่ได้อีกมาก แต่ด้วยเส้นทางที่ทั้งสองต่างผ่านมานั้น ทำให้เราอดเปรียบเทียบไม่ได้เลยว่าพวกเขามีความคล้ายคลึงกันเสียเหลือเกิน โดยเฉพาะกับ โชคชะตาแห่งการเป็นผู้นำตั้งแต่อายุน้อย

พลังที่ถูกส่งต่อ แต่ขอใช้ในแบบตัวเอง

มอแรนท์ ให้เครดิตกับ โรส อย่างมากโดยเฉพาะอิทธิพลที่อดีตการ์ดของบูลส์ทิ้งไว้ให้กับความมั่นใจในสไตล์การเล่นที่ตัวเองถนัด

“เขาไปถึงจุดที่ทำให้ผู้คนสามารถเชื่อในผู้เล่นแบบผม เขาทำให้การ์ดสไตล์แบบเราเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับ ด้วยการทำแต้มที่ผาดโผน การลุยเข้าหาห่วง การเล่นที่ดุดันพร้อมระเบิดใส่ทุกคน แล้วกลายเป็นว่าผมถูกนำไปเทียบกับเขา มันบ้ามากที่ผมมีโอกาสได้ลงเล่นร่วมกับเขา” มอแรนท์ ให้สัมภาษณ์หลังจบเกมที่ กริซลีส์ พบกับ นิกส์ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

Derrick Rose

หนึ่งในเหตุผลที่ โรส ซึ่งไม่เก่งเหมือนเดิมแล้วแต่เขายังคงอยู่ในใจและเป็นที่พูดถึงของแฟนบาส เพราะสิ่งที่เขาสร้างเอาไว้ มันไม่ใช่แค่พลังที่เน้นเอาสนุกหรือสะใจ แต่เป็นการส่งต่อความเชื่อมั่นและแรงบันดาลใจ ให้กับการ์ดรุ่นใหม่ ๆ อีกมากมาย รวมถึงแฟนบาสทั่วโลกที่มักจะติดตามผลงาน หรือ ตั้งใจดูเกมทันทีที่โรส ถูกเปลี่ยนลงมาในฐานะผู้เล่นตัวสำรอง

อิมแพคของโรส อาจไม่ได้กว้างเหมือนการปฏิวัติรูปแบบการเล่นเหมือนที่ สเตฟเฟ่น เคอร์รี่ ทำ แต่มันจะคล้าย ๆ กับการที่ เลบรอน เจมส์, ยานนิส อันเททูคุมโป หรือ ลูก้า ดอนซิช เป็นผู้เล่นรูปร่างสูงใหญ่ แต่กลับสามารถใช้ทักษะมารันเกมในฐานะตัวคุมบอลให้กับทีมได้

แม้จะมีการเปรียบเทียบระหว่าง โรส - มอแรนท์ บ้างตามสื่อต่าง ๆ เพื่อหาว่าใครเป็นสุดยอดการ์ดสไตล์นี้มากกว่ากันในช่วงพีคสุด (ของ มอแรนท์ ก็จะใช้ผลงานปัจจุบัน) แต่ จา กลับมองว่ายังไงโรส คือ ผู้เล่นที่แตกต่างอยู่ดี

Ja Morant 102122
(NBAE via Getty Images)

“แน่นอน ผมเห็นการเปรียบเทียบระหว่างผมกับดีโรส แต่เขาเป็นผู้เล่นที่ไม่เหมือนใคร และ เป็นนักบาสที่พิเศษ คุณจะเห็นความคล้ายคลึง แต่จะไม่มี เดอร์ริก โรส คนไหนอีกแล้วบนโลกใบนี้ … อีกอย่าง ผมแค่พยายามที่จะเป็นยอดผู้เล่นในแบบของตัวเอง ทำในสิ่งที่ควรทำและช่วยให้ทีมชนะและพัฒนาต่อไป” มอแรนท์ กล่าวกับ Yahoo Sports 

หากไม่เจอกับปัญหาอาการบาดเจ็บหรือจุดเปลี่ยนสำคัญ มอแรนท์ ยังมีเวลาให้พิสูจน์ตัวเองอีกยาวไกล เขาอาจประสบความสำเร็จกว่า ดีโรส ก็ได้ แม้จะไม่ใช่รางวัล MVP หากแต่แค่พาทีมหมีคว้าแชมป์สำเร็จสัก 1 สมัย ก็คงเป็นเครื่องยืนยันที่ชัดเจนมาก ๆ แล้วแหละ

Nawapon Kiatpisan

Nawapon Kiatpisan Photo

NBA Lover